top of page
klangpanyath

APEC 2022: หมุดหมายแห่งความเปลี่ยนแปลง (?)

อัปเดตเมื่อ 10 ธ.ค. 2565

อิทธิพลภูมิศาสตร์การเมือง/ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป การปรับทิศทางนโยบายต่างประเทศไทย



รศ.ดร. วรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์

ศูนย์อาเซียนและการระหว่างประเทศศึกษา

(Centre for ASEAN and International Studies: CAIS)

สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช



º สีสันก่อนการประชุม (ปักกิ่งกับวอชิงตัน)


หลายคนที่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ อาจเฝ้ามองช่วงเวลาก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือที่เรียกกันจนคุ้นชินว่า การประชุมสุดยอดเขตเศรษฐกิจเอเปก ด้วยความแอบกังวลว่ายังจะมีความโดดเด่นใดอยู่หรือไม่ เพราะกรุงเทพมหานครหาใช่พื้นที่แรกที่ผู้นำจีนเดินทางเยือนหลังประกาศใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (zero-Covid) โดยมีคาซัคสถาน ดินแดนที่สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประกาศนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road: OBOR) เป็นครั้งแรกเมื่อค.ศ. 2013 {ก่อนจะปรับเปลี่ยนชื่อเป็นการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)} เป็นพื้นที่ต้อนรับแห่งแรกเมื่อราวกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 ก่อนที่สีจะเดินทางต่อไปยังเมืองซามาร์คาน (Samarkand) ในอุซเบกิสถาน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization: SCO) ซึ่งเป็นเวทีหารือร่วมกันระหว่างจีน รัสเซีย และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง[1]


ตามมาด้วยการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G-20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย อีกหนึ่งประเทศที่สี จิ้นผิงใช้เป็นพื้นที่ผลักดันนโยบายเส้นทางสายไหมทางทะเล การประชุมก่อนหน้าเอเปกที่กรุงเทพฯครั้งนี้นับได้ว่า ได้รับการจับตามองอย่างมากเมื่อสามารถจับภาพร่วมกรอบระหว่างผู้นำปักกิ่งและผู้นำวอชิงตัน ดี.ซี. ท่ามกลางบรรยากาศการสะสมตัวของหลากหลายความตึงเครียดทั้งที่ใกล้ตัวเราอย่างกรณีปัญหาช่องแคบไต้หวัน ที่เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับเรื่องของอำนาจทางการทหาร บทบาท และอิทธิพลของจีนในเขตพื้นที่ทะเลจีนใต้ ไปจนถึงเรื่องที่ดูไกลตัวอย่างอย่างสงครามที่มีทีท่าจะยังคงยืดเยื้ออีกนานระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ลากลามมายังเรื่องราวในชีวิตประจำวันของเรากับความผันผวนของราคาพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่ายุโรปย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุดจากช่วงฤดูหนาวปีนี้เป็นต้นไป ดังจะเห็นได้จากภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มขยับตัวสูงขึ้น และยังจะกระทบภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มจะหดตัวลง เมื่อต้องมีการนำพลังงานในภาคดังกล่าวไปใช้สนับสนุนภาคครัวเรือนและอื่นๆ เพื่อแก้วิกฤตเฉพาะหน้า[2]


สามชั่วโมงของการเจรจาทวิภาคีระหว่างสีและไบเดน แทบจะดึงดูดทุกสายตาของชาวโลกที่สนใจความเป็นไปของเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แน่นอนว่าหลายฝ่าย (ไม่ว่าจะเอนเอียงไปทางด้านใด) ถอนหายใจด้วยความโล่งอกเมื่อผลจากการประชุมโดยภาพรวมส่งสัญญาณบวก และแม้จะออกแถลงการณ์ร่วมในการตำหนิรัสเซียจากกรณีสงครามดังกล่าวข้างต้น แต่ลักษณะภาษาที่ใช้ก็ได้พยายามให้ราบเรียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กล่าวได้ว่าสำหรับผู้ที่สนใจมิติด้านการทูตแล้ว การประชุมเวทีใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนมีหลากหลายเรื่องราวให้ได้เรียนรู้และตั้งข้อสังเกตมากมาย รวมถึงการที่ผู้นำทั้งสองประเทศพยายามช่วงชิงการนำวิสัยทัศน์ในการแก้สารพันปัญหาระดับโลกที่หาได้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงการนำเสนอวิสัยทัศน์ที่พยายามขยับห่างจากช่วงสงครามเย็น แม้กระนั้นก็ยังยากที่สองผู้นำดังกล่าวจะสามารถกลบรัศมีการมีส่วนร่วมแบ่งปันความโดดเด่นของผู้นำจากอีกหลายประเทศ อาทิ อาร์เจนตินา อินเดีย และซาอุดิอาระเบีย[3] มิพักต้องเอ่ยถึงเจ้าภาพอย่างอินโดนีเซียที่มีฉากหลังของการเป็นผู้นำกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement: NAM) ร่วมกับอินเดีย และจีนมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1960[4]


ท่ามกลางความโดดเด่นของเวทีประชุมระหว่างประเทศดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามไม่น้อยว่า การทุ่มงบประมาณกว่า 3,200 ล้านบาท และดำเนินการด้านต่างๆไปมากมายนั้น ไทยจะได้อะไรบ้าง นอกเหนือจาก “หน้าตาของประเทศ” ที่ผู้นำวอชิงตัน ดี.ซี อย่างโจ ไบเดน (Joe Biden) เลือกใช้ข้ออ้างเรื่องการเข้าร่วมพิธีวิวาห์ของหลานสาวในการไม่มาปรากฏตัวที่กรุงเทพฯ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) จึงเป็นรองประธนานาธิบดีเชื้อสายอินเดียจึงดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมโดยเฉพาะเมื่อเชื่อมโยงภาพกับการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สิงคโปร์ และเวียดนาม) ก่อนหน้านี้ของเธอเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 เพื่อยืนยันว่าวอชิงตัน ดี.ซี. ยังคง(กลับมา)ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้[5] แต่ตัวเลือกการเยือนที่ตอกย้ำด้วยถ้อยคำพาดพิงถึงพฤติกรรมที่ยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคกดบังคับเพื่อนบ้านเช่นนี้ไม่เพียงจุดประเด็นในเรื่องการช่วงชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของโลก[6] แต่ยังทำให้ (อย่างน้อยก็ตัวผู้เขียนเอง) อดตั้งตารอดูการขยับก้าวต่อไปของปักกิ่งไม่ได้ว่าจะเป็นเช่นใด และเราก็ได้เห็นภาพการเยือนของสีดังกล่าวข้างต้น แม้จะต่างปีกันก็ตาม และสาสน์ที่ส่งผ่าน BKK APEC 2022 ดังจะได้กล่าวต่อไป


ไม่ว่าจะอย่างไร ด้วยความที่ปฏิสัมพันธ์ข้างต้นค่อนข้างมีลักษณะต่างฝ่ายต่างตอบโต้ (tit-for-tat) ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ช่วงสงครามเศรษฐกิจภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ทำให้ผู้คนไม่น้อยจับตามองด้วยความกังขาว่า ผู้นำจีนจะยังเดินทางมาหรือไม่ เพราะประเด็นหลักและวิสัยทัศน์เชิงการแข่งขันที่วังคมโลกเฝ้าจับตาใช่แสดงให้เห็นแล้วที่บาหลีหรือ ไม่เพียงเท่านั้นปักกิ่งยังเผชิญแรงต้านที่เพิ่มมากขึ้นต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ จากการเพิ่มระดับความเครียดและความกังวลของผู้คนจนนำไปสู่การประท้วงนโยบายดังกล่าว อาทิ กรณีแรงงานฟอกซ์คอนน์ (Foxconn) ที่เจิ้งโจว และลุกลามมากขึ้นเมื่อเกิดกรณีใช้ไฟไหม้ที่อุรุมชีในซินเจียง (ที่โหมกระแสความไม่พอใจต่อชาวฮั่นกลับขึ้นมาอีกครั้ง) จนเกิดการประท้วงทั้งในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เฉิงตู ฉงชิ่ง อู่ฮั่น และเมืองอื่นๆ เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย (คาดไว้ที่ระดับร้อยละ 5.5 สำหรับค.ศ. 2022 แต่แนวโน้มที่เป็นจริงอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.9) และอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น[7]



º ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริง จากการประชุม


นอกเหนือจากการกล่าวถึงความสำเร็จของอำนาจอ่อน (soft power) จากมิติสังคม-วัฒนธรรม ที่ยังดำรงอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนไทยที่สร้างความประทับใจให้แขกรับเชิญพิเศษ (ประเภทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปก ซึ่งรัฐบาลไทยตอบรับเมื่อผู้นำขอเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้) อย่าง เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ผู้นำฝรั่งเศสที่ไม่เพียงประกาศตัวในฐานะแฟนคลับมวยไทย และชื่นชมการผสมผสานวัฒนธรรมไทย-จีนที่จับต้องได้ในการกินดื่มด้วยการเยือนเยาวราช[8] แต่ยังใช้เวทีแห่งนี้บอกกล่าวกับสังคมระหว่างประเทศที่อาจกำลังเคลื่อนผ่านเข้าสู่โลกยุคหลังโควิด-19 ว่า โลกไม่ควรและไม่อาจแบ่งออกเป็นกลุ่มก้อน (และตะวันตกหาได้มีเพียงแองโกล-อเมริกัน) ที่สร้างความตึงเครียดและความหวาดหวั่นให้กับอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แห่งความหวังในการฟื้นตัวของสารพันประเทศและเขตเศรษฐกิจ[9] แต่สาส์นที่สำคัญของมาครงไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใดก็คงเลี่ยงไม่พ้นการประกาศตนว่า ฝรั่งเศสยังคงอยู่ตรงนี้ทั้งในฐานะรัฐฝรั่งเศสเองและส่วนหนึ่งการการนำสหภาพยุโรป (European Union: EU) ไปในทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สิ่งที่มาครงให้สำคัญก็คือการสร้างสมดุลอย่างมีพลวัตท่ามกลางสภาพแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของฝรั่งเศสเองที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายในเรื่องของห่วงโซ่อุปาทาน การเชื่อมต่อด้านดิจิตัล ความสำคัญของสภาพแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ[10]


กมลา แฮร์ริส เองก็ให้ความสนใจกับอำนาจอ่อนของไทยเช่นกันโดยเฉพาะการเยือนตลาดอ.ต.ก. จนช่วยก่อกระแสความสนใจในการการซื้อเครื่องแกงทั้งเครื่องแกงเขียวหวานและเครื่องแกงต้มยำ รวมไปถึงตะไคร้แห้ง ในกลุ่มนักท่องเที่ยวรวมถึงผู้ที่ติดตามอินสตาแกรมของเธอกว่า 17.1 ล้านคน แม้ว่าจะยังไม่อาจก่อกระแสไวรัลได้เท่ากับการลงภาพอาหารเรียกน้ำย่อยที่เป็นตัวแทนสี่ภาคของไทยจากเฟสบุ๊กของผู้นำสิงคโปร์[11] ไม่ว่าจะอย่างไร สารสำคัญจากสาส์นที่แฮร์ริสส่งผ่านเอเปกในครั้งนี้สู่สังคมระหว่างประเทศก็ยังเป็นที่จับตามองและเฝ้าติดตามอย่างมากถึงท่าทีของสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากสนับสนุนนโยบายของไทยที่เน้นการพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเทคโนโลยีก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวซึ่งไทยนำเสนอในรูปของ “Bio-Circular Green Economy model


สหรัฐอเมริกายังสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของไทยในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) และเน้นย้ำถึงข้อมูกมัดของสหรัฐอเมริกาในฐานะหุ้นส่วนที่จะช่วยในการเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่งคั่ง และการพัฒนาที่ยั่งยืนในเขตพื้นที่จีเอ็มเอส เพราะสำหรับสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจแปซิฟิกที่มีความภาคภูมิใจนั้น ผลประโยชน์ที่สำคัญคือ การสนับสนุนให้ภูมิภาคดังกล่าวมีลักษณะที่เปิดกว้าง พึงพาตนเองได้ มั่นคง และเชี่อมโยงความมั่งคั่งถึงกัน[12] แน่นอนว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีจากความร่วมมือหลากหลายรูปแกับไทยก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มมูลค่าการค้าที่เชื่อมโยงกับความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ของห่วงโซ่อุปาทาน (มีการลงนานกันไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา) เพิ่มบทบาทของความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดและดิจิตัล ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมเพื่อการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ นอกเหนือไปจากความร่วมมือด้านความมั่นคงโดยเฉพาะจากความท้าทายใหม่ เพื่อรูปธรรมที่ชัดเจนไทยจึงเน้นความสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (the Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เช่นเดียวกับกรอบจีเอ็มเอสซึ่งไปกันได้ดีกับกรอบอำนาจหุ้นส่วนอำนาจแม่โขง สหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น (Japan-U.S. Mekong Power Partnership: JUMPP) โดยเฉพาะเมื่อค.ศ. 2023 จะเป็นโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 190 ปีระหว่างไทยกับสหรัฐอเมิกา[13]


ไม่ว่าความพยายามและท่าทีของแฮร์ริสจะเป็นเช่นใด ก็ยังไม่ง่ายจะชดเชยกับความเป็นจริงที่ว่าไบเดนมิได้ปรากฏตัว จนทำให้เกิดความคลางแคลงใจถึงศักยภาพในการเอาจริงเอาจังกับภูมิภาคดังกล่าวของวอชิงตันดี.ซี. เพราะกรอบความร่วมมือต่างๆดังกล่าวข้างต้น หาใช่พื้นที่การนำของสหรัฐอเมริกาแต่เพียงผู้เดียว หากยังต้องรับฟังญี่ปุ่น (ซึ่งมีหลากหลายเวทีและโอกาสให้ได้พิจารณาปรับท่าทีต่อจีนได้บ่อยครั้ง) และอาเซียน ที่ยืดหยัดในเวทีระหว่างประเทศด้วยการรักษาสมดุลระหว่างฝ่ายต่างๆมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ง่ายเช่นกันที่จะปฏิเสธว่า ความใกล้ชิดที่เพิ่มมากขึ้นกับจีนจากพลังทางเศรษฐกิจของฝ่ายหลังอาจทำให้อาเซียนยิ่งขยับห่างจากวอชิงตันดี.ซี. เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ไม่ต่างจากท่าทีของไทยต่อจีนในการประชุมเอเปกครั้งนี้


นอกจากเจ้าภาพอย่างไทยที่ได้ “หน้าตาของประเทศ” มากมาย ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยจากหลากหลายกลุ่มความเคลื่อนไหวในสังคมว่า เม็ดเงินที่ทุ่มลงไปนั้นคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนกับเรื่องอะไรบ้าง สิ่งที่ยากจะปฏิเสธก็คือ ความโดดเด่นของสี จิ้นผิง ซึ่งนำเสนอสุนทรพจน์ให้คำมั่นว่า จีนจะร่วมสนับสนุนให้ความร่วมมือในเอเชีย-แปซิฟิกไปสู่ระดับที่สูงยิ่งขึ้น การพัฒนาอย่างสันติคือสภาพเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจขนาดกลางและเล็กซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในภูมิภาค สีเน้นย้ำว่า เอเชีย “ไม่ใช่สนามหลังบ้าน” ของมหาอำนาจใด (แต่ท่าทีของสีและความโน้มเอียงของหลายประเทศในเอเชีย อดทำให้ผู้เขียนเทียบเคียงไม่ได้กับการประกาศท่าทีของผู้นำสหรัฐอเมริกาในอดีต จนเป็นที่มาของลัทธิมอนโร (Monroe Doctrine) ที่ทำให้ภูมิภาคลาตินอเมริกาต้องเผชิญกับแรงกดทับจนถึงขั้นใช้กำลังเข้าแทรกแซงในบ้างครั้งจากวอชิงตัน ดี.ซี) และไม่ควรจะเป็นพื้นที่เพื่อการแข่งขันของมหาอำนาจ การเปิดกว้างและการยอมรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่ง (inclusiveness) เป็นเส้นทางที่เอเปกดำเนินมาอยู่แล้ว ดังนั้น ความพยายามใดก็ตามที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปาทานด้านอุตสาหกรรมในเอเชีย-แปซิฟิกต้องหยุดชะงักหรือแตกสลาย ย่อมทำให้เส้นทางแห่งความร่วมมือสิ้นสุดลง


สำหรับสีแล้วเส้นทางของเอเปกที่เป็นความหวังแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จำเป็นต้องเสริมความแกร่งให้กับความร่วมมือนี้ด้วยการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้บูรณาการทางเศรษฐกิจนำไปสู่การพัฒนาประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่แบ่งปันอนาคตร่วมกันผ่านหลัก 6 ประการ นั่นคือ

1) เครารพต่อหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) ปฏิเสธความนึกคิดจิตใจแบบสงครามเย็น (Cold War mentality) การเผชิญหน้าแบบเป็นกลุ่มก้อน และสร้างสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงแห่งเอเชีย-แปซิฟิก

2) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพยายามสร้างความเป็นหุ้นส่วนแห่งความเป็นหนึ่งเดียวและเท่าเทียม (unity and equality) โดยคำนึงถึงความสมดุลและการยอมรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่ง

3) ให้ความสำคัญกับการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างเขตการค้าเสรีแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ที่สัมพันธ์กับการปรับปรุงองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) แลประสานงานด้วยดีกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ความตกลงที่ครอบคลุมกว้างขวางและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (the Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิตัล (Digital Economy Partnership Agreement)

4) พัฒนาการเชื่อมต่อให้มีมาตรฐานสูงยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่นๆ โดยจีนจะให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันร่วมไปกับการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้น (BRI)

5) สร้างห่วงโซ่อุปาทานทางอุตสาหกรรมที่มีเสถียรภาพไม่ขาดตอน และ

6)พัฒนาการยกระดับทางเศรษฐกิจใหม่ๆด้วยรูปแบบใหม่ๆโดยอาศัยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ใช้คาร์บอนต่ำ สนับสนุนภาคเศรษฐกิจ การเงินสีเขียว เพื่อนำไปสู่การจัดทำกรอบความร่วมมือเอเชีย-แปซิฟิกสีเขียว[14]


สำหรับท่าทีของไทยดังกล่าวข้างต้น อาจถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน เพราะที่ผ่านมานั้น นโยบายของไทยต่อจีนมักจะเป็นไปในลักษณะเชิงรับ (passive policy) จากแรงกดทับของความเปลี่ยนแปลงระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งแรงกดทับจากมหาอำนาจนอกภูมิภาคโดยตรง ท่าทีที่ค่อนข้างกระตือรือร้นของไทยต่อจีนดังกล่าวจึงอาจถือได้ว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่[15] ในโอกาสฉลองครบรอบทศวรรษความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับจีน ที่ผู้นำจีนถือว่า “ไทยกับจีนใกล้ชิดเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน” จึงควรพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การสร้างประชาคมไทย-จีนที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืน ให้กับมิติใหม่ๆของความสัมพันธ์ ที่ควรดำเนินการอย่างจริงจังตามกรอบระยะเวลา 5 ปี แผนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ โดยอาศัยพลังผนึกจากความร่วมมือ BRI โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิตัล ยานยนต์ที่ใช้พลังงานแบบใหม่ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เสริมความร่วมมือด้านต่างๆแต่เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว ความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างจีน-ลาว-ไทยในเรื่องรถไฟความเร็ว และกรอบพัฒนาระเบียงเชื่อมต่อจีน-ลาว-ไทย (China-Thailand-Laos Connectivity Development Corridor Outlook) ซึ่งจะยิ่งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนสู่ประชาชน และมิติทางวัฒนธรรม[16]


คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า การปรับท่าทีดังกล่าวของรัฐไทย กอปรกับการแสดงจุดยืนข้างต้นของจีน คงทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาอาจต้องใช้ความพยายามมากขึ้น หากปรารถนาจะให้การสร้างความสัมพันธ์แบบรอบด้านและค่อนข้างเน้นความสมดุลของไทย(และอาเซียน) ไม่เอนเอียงเข้าหาปักกิ่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อตะวันตกไม่จำเป็นต้องหมายถึงแค่เพียงสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ เหมือนเช่นที่มาครงจากฝรั่งเศสพยายามแสดงบทบาทในเอเปกครั้งนี้ และตะวันตกยังไม่มีอภิมหาโปรเจกตฺมาใช้ดึงดูดความสนใจและความร่วมมือจากประเทศในภูมิภาค เหมือนเช่นที่จีนสมัยสี จิ้นผิง นำเสนอโดยการตอกย้ำถึงลักษณะเปิดกว้าง และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน (แม้จะต้องคิดพิจารณาให้รอบด้านมากขึ้น เมื่อจะดำเนินการจริง) จากการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง


 

[1] ‘China’s President Xi Jinping visits Kazakhstan, His first visit post-Covid-19’. (14/11/2022). Outlook. Retrieved from https://www.outlookindia.com/international/china-s-president-xi-jinping-visits-kazakhstan-his-first-visit-post-covid-19-news-223266 (accessed 27/11/2022) [2] Zandor Zsiros. (23/11/2022). ‘Europe’s energy crisis ‘even worse’ next winter if no end to Ukraine war, warns Paolo Gentiloni ’. euronews. Retrieved from https://www.euronews.com/my-europe/2022/11/22/europes-energy-crisis-even-worse-next-winter-if-no-end-to-ukraine-war-warns-paolo-gentilon (accessed on 27/11/2022); Clara Demina and Sarah Mc Farlane. (3/11/2022). ‘Energy crisis chips away at Europe industrial might’. Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/business/energy/energy-crisis-chips-away-europes-industrial-might-2022-11-02/ (accessed on 28/11/2022) [3] ‘At G20 Summit, Xi and Biden offer rival visions for solving global issues’. (15/11/2022). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2022/11/15/world/asia/xi-biden-g20.html (accessed on 28/11/2022); Retrieved from https://www.chathamhouse.org/2022/11/g20-bali-summit-showcases-more-diverse-world (accessed on 28/11/2022) [4]ผู้เขียนได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ในเรื่องดังกล่าวเชื่อมโยงกับการเริ่มพัฒนาตัวของรัฐเอกราชมากมายในเอเชียและแอฟริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ที่อื่นแล้ว ผู้สนใจโปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ วรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ (2564) “หน่วยที่ 15 ทวิลักษณ์ของความเคลื่อนไหวในประเทศโลกที่สาม” ในเอกสารการสอนชุดวิชา ความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศ นนทบุรี: สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช [5] Sebastain Strangio. (27/8/2021). ‘What were the main outcomes of Kamala Harris’s trip to Southeast Asia’. The Diplomat. Retrieved from https://thediplomat.com/2021/08/what-were-the-main-outcomes-of-kamala-harris-trip-to-southeast-asia/ (accessed on 30/11/2022) [6] ‘US vice President Harris ends Asia tour with fresh jab at China’. (27/8/2021). Aljazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2021/8/27/vp-harris-vows-us-will-speak-up-on-south-china-sea (accessed 1/12/2022) [7] ‘China’s economy shows as ‘zero COVID’ drags down sales, industry’. (15/8/2022). Aljazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/economy/2022/8/15/chinas-economy-slows-as-zero-covid-drags-down-sales-industry (accessed on 1/12/2022) [8] ‘Building on Apec pluses’. (24/11/2022). Bangkok. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2445020/building-on-apec-pluses (accessed on 3/12/2022) [9]ความสำคัญของอินโด-แปซิฟิก ซึ่งขาดที่มีการคาดหวังว่า ศตวรรษที่ 21 มีแนวโน้มที่จะเป็นศตวรรษแห่งอินโด-แปซิฟิก (The Indo-Pacific Century) ซึ่งอาจหาใช่พื้นที่ที่มหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งจะสามารถบ่งการความเป็นไประหว่างประเทศได้แต่เพียงผู้เดียว เป็นสิ่งที่ผู้เขียนเสนอข้อถกเถียงไว้เมื่อหลายปีก่อนแล้ว สำหรับผู้สนใจในประเด็นดังกล่าวที่ดูจะได้รับการยืนยันมากขึ้นทุกทีถึงโลกที่มีลักษณะพหุนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในลักษณะที่แกนกลางขยับห่างออกจากตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ที่ดูจะก่อนรูปได้ชัดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ผู้สนใจในพัฒนาการความเป็นไปของเรื่องดังกล่าวโปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ วรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ (2559). แนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Trends) ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของประเทศไทยและสังคมไทย (รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์) เสนอต่อ สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565. https://www.klangpanya.in.th/postสำเนาของ-สำเนาของ-รายงานวิจัยโครงการบทบาทของตุรกีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้. [10] ‘France rejects ‘confrontation’ in Asia, Macron says’. (18/11/2022). France 24. Retrieved from https://www.france24.com/en/asia-pacific/20221118-france-rejects-confrontation-in-asia-macron-says (accessed on 3/12/2022); Thierry Mathou. (21/11/2022). ‘Why Franco-Thai relations matters’. Bangkok Post. Retrieved from https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2442320/why-franco-thai-relations-matter (accessed on 3/12/2022) [11] ‘Singapore PM Lee’s APEC 2022 posts go viral on Facebook’. (20/11/2022). The Nation. Retrieved from https://www.nationthailand.com/special-edition/40022258 (accessed on 4/12/2022); ‘How world leaders turned super-influencers for Thai tourism at APEC’. (22/11/2022). The Nation. Retrieved from https://www.nationthailand.com/special-edition/40022323 (accessed 4/12/2022) [12] Naomi Lim. (18/11/2022). ‘Kamala Harris tells APEC in Thailand the U.S ‘is hereto stay’’. Washington Examiner. Retrieved from https://www.washingtonexaminer.com/restoring-america/courage-strength-optimism/kamala-harris-apec-thailand-us-here-to-stay (accessed on 4/12/2022); ‘Readout of Vice President Harris’s Meeting with Prime Minister Prayut of Thailand’. (19/11/2022). The White House. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/11/19/readout-of-vice-president-harriss-meeting-with-prime-minister-prayut-of-thailand/ (accessed on 4/12/2022); Nike Ching. (15/11/2022). ‘US eyes APEC to boost commercial ties, despite Biden’s absence’. VOA. Retrieved from https://www.voanews.com/a/us-eyes-apec-to-boost-commercial-ties-despite-biden-s-absence/6835898.html (accessed on 4/12/2022) [13] ‘The Prime Minister of Thailand met with the Vice President of the United State’. (19/11/2022). Ministry of Foreign Affairs, Kingdom of Thailand. Retrieved from https://www.mfa.go.th/en/content/us-vp-apec-2?cate=5d5bcb4e15e39c306000683c (accessed on 4/12/2022) [14] ‘President Xi Jinping delivered a written speech at the APEC CEO Summit’. (17/11/2022). Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China. Retrieved from https://www.fmprc.gov.cn/eng/zxxx_662805/202211/t20221117_10977274.html (accessed on 4/12/2022) [15]วรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ (2565) ““การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)” เส้นทางแห่งการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ท่ามากลางบรรยากาศระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไทย” นำเสนอในงานสัมนายุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 11 (The Eleventh Thai – Chinese Strategic Research Seminar) โดย ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University, HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies (CSSAS) และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน สัมมนาออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น ZOOM วันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2022 ณ. ห้องประชุมศูฯย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กรุงเทพมหานคร บทความชิ้นนี้ปรับปรุงขึ้นจากรายงานการวิจัยภายใต้ชื่อ ““การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ศึกษากรณีศรีลังกา กัมพูชา และปากีสถาน: ข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะต่อไทย” เสนอต่อ สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อค.ศ. 2021 งานวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชื่อมไทยเชื่อมโลกด้วย BRI 1 ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณดำเนินการจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปี ค.ศ. 2020 [16] ‘President Xi Jinping holds talk with Thai Prime Minister Prayut Chan-o-cha’. (19/11/2022). Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China. Retrieved from https://www.fmprc.gov.cn/eng/zxxx_662805/202211/t20221119_10978201.html (accessed on 4/12/2022)



Comments


bottom of page