การแผ่ขยายอำนาจทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของจีน: ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยในฐานะรัฐขนาดเล็ก
China’s Geocultural Power Expansion: How Should Thailand Respond as A Small State?
นางสาวชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร
นักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ
ยุทธศาสตร์การริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) ของจีนนั้นไม่ได้เป็นแค่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) และภูมิเศรษฐศาสตร์ (geoeconomics) เท่านั้น แต่เป็นเรื่องภูมิศาสตร์วัฒนธรรม (geoculture) ด้วย เพราะ BRI มีกรอบความร่วมมือที่กว้างมาก มีเสาหลักการดำเนินนโยบายความร่วมมือ 5 เสาหลักที่ครอบคลุมความร่วมมือแทบทุกด้าน นอกจากนี้ BRI ยังตั้งอยู่บนฐานเรื่องเล่าของเส้นทางสายไหมโบราณ ซึ่งเป็น resource หลักที่จีนหยิบยกขึ้นมาใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับประเทศต่าง ๆ เพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์ BRI อาจเรียกได้ว่า นอกเหนือจากการลงทุนกับสิ่งของด้านกายภาพ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน จีนยังลงทุนกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมในยุคสมัยที่การใช้ soft power กำลังเฟื่องฟูเพื่อแผ่ขยายอำนาจทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมผ่านเส้นทางสายไหมยุคใหม่ด้วย ไทยในฐานะประเทศขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในเส้นทางสายไหมทางตอนใต้และระเบียงเศรษฐกิจจีน-อินโดจีน (China – Indo-China Economic Corridor – CICEC) ควรจะดำเนินนโยบายต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร
บทความชิ้นนี้จะสำรวจการแผ่ขยายอำนาจทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของจีนผ่านยุทธศาสตร์ BRI โดยสำรวจการดำเนินความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับรัฐขนาดเล็ก โดยเลือกกรณีตัวอย่าง 2 กรณี ได้แก่ เคนย่าและศรีลังกา แล้วจึงเสนอแนวทางเบื้องต้นในการดำเนินความร่วมมือทางวัฒนธรรมของไทยต่อจีนภายใต้ร่ม BRI โดยใช้กรอบคิดทฤษฎีรัฐขนาดเล็ก(Small State Theory) ในการวิเคราะห์หาแนวทางดังกล่าว
Small State Theory
ทฤษฎีรัฐขนาดเล็ก (Small State Theory) ถูกใช้เพื่ออธิบายพฤติกรรมและนโยบายของรัฐขนาดเล็กในสนามการเมืองโลก โดยได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลังสงครามเย็น เนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคมในหลายทวีป ทำให้มีรัฐเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมาก ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ รัฐขนาดเล็กสามารถคัดง้าง (leverage) ดุลอำนาจในระบบโลกแบบสองขั้ว (bipolar world) ได้ด้วยจำนวนที่มากกว่า และสิ่งที่ส่งเสริมความสามารถดังกล่าว คือ ระบบเวสต์ฟาเลีย (the Westphalian system) ที่ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน[1] อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศยังคงมีข้อถกเถียงกันถึงความหมายของรัฐขนาดเล็ก เนื่องจากเส้นแบ่งกั้นความหมายระหว่างคำว่า micro state small state และ middle power นั้นเลือนราง และไม่ตายตัว[2]
โดยทั่วไปแล้ว รัฐขนาดเล็กได้รับการนิยามว่า เป็นรัฐที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ประชากรน้อย ขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่ และมีขีดความสามารถทางการทหาร (military capacity) ที่ไม่สูงนัก แต่ด้วยระเบียบ ระบบ และสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป ทำให้แนวคิดแบบเก่าเกี่ยวกับการชี้วัดรัฐขนาดเล็กด้วยขนาดพื้นที่นั้นลดความสำคัญลงไป โดยมีปัจจัยอื่น ๆ มาเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญแทน เช่น เขตแดนทางทะเล ความสามารถในการปรับตัวของรัฐ (national resilience) ขีดความสามารถด้านดิจิทัล เป็นต้น[3]
John Henderson ได้นิยามลักษณะเฉพาะของรัฐขนาดเล็กไว้ 6 ประการ คือ
1. มีส่วนร่วมในประเด็นระหว่างประเทศไม่บ่อยนัก เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัด
2. มีขอบเขตของบทบาทในเวทีระหว่างประเทศที่แคบ (narrow scope) การมีทรัพยากรที่น้อยกว่ามหาอำนาจทำให้นโยบายต่างประเทศของรัฐขนาดเล็กมีขอบเขตจำกัด และการมีระบบราชการด้านการต่างประเทศ (state’s foreign affairs bureaucracy) ขนาดเล็กก็จำกัดความสามารถในการเล่นบทบาทที่หลากหลายในเวทีระหว่างประเทศ
3. มีประเด็นมุ่งเน้นในนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า
4. มีแนวโน้มที่จะอิงอยู่กับความเป็นพหุภาคี (multilateralism) องค์การระหว่างประเทศ (international organization) ข้อตกลงความร่วมมือ และระบบพันธมิตร (alliance) เพื่อใช้ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอง
5. มีการเน้นย้ำถึงเรื่องศีลธรรมจรรยา (moral) อยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทำให้รัฐขนาดเล็กไม่มีสิ่งที่จะมาสนับสนุนการโน้มน้าวให้ประเทศมหาอำนาจทำตามหรือยึดหลักศีลธรรมได้
6. มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk avoidant) และหวาดกลัวรัฐที่มีอำนาจ(powerful state)[4]
จากการนิยามของ Henderson จะเห็นได้ว่า การมีทรัพยากรอย่างจำกัดเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของรัฐขนาดเล็ก และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายต่อชาติมหาอำนาจ โดยรัฐขนาดเล็กมักมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายเป็นเชิงรับเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ และพร้อมปรับนโยบายต่างประเทศของประเทศตนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบจากความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชาติมหาอำนาจ[5] ส่งผลให้รัฐขนาดเล็กมีจุดเด่นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ (prioritization) เพื่อมุ่งให้รัฐได้ผลประโยชน์มากที่สุด[6] และการบริหารความเสี่ยง (risk management) ที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกและการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ แต่ด้วยอำนาจและขีดความสามารถที่น้อยกว่า ทำให้รัฐขนาดเล็กไม่มีทางเลือกในการดำเนินนโยบายมากนัก
ด้วยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและเกิดการแข่งขันทางอำนาจระหว่างมหาอำนาจที่เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ Brexit สงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ มหายุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative การพยายามสร้าง China-centered bloc นโยบายต่างประเทศของรัสเซียภายใต้รัฐบาลปูตินที่เปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ฯลฯ ทำให้มีการพัฒนาทฤษฎีที่หลบภัย (shelter theory) โดยนักวิชาการจาก Centre for Small State Studies เพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมของรัฐขนาดเล็กที่ต้องปรับตัวตามแรงกดดันที่เกิดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น ซึ่งอธิบายว่า รัฐขนาดเล็กจำเป็นต้องหาที่หลบภัย (shelter-seeking) ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เนื่องมาจากการมีทรัพยากรที่จำกัดทำให้รัฐขนาดเล็กอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่กำลังเผชิญด้วยตนเองได้[7] ทำให้รัฐขนาดเล็กจำเป็นต้องหันไปพึ่งพิงและเข้าไปเป็นพันธมิตรกับรัฐขนาดใหญ่ และเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาหรือวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น
การขอความสนับสนุนในด้านการเมืองอาจเป็นการขอความช่วยเหลือทางด้านการทหารจากมหาอำนาจ ในขณะที่การขอที่หลบภัยทางเศรษฐกิจ (economic shelter) อาจเป็นเรื่องการขอความช่วยเหลือโดยตรงทางเศรษฐกิจ การขอกู้ยืม การขอเข้าสู่ตลาดในฐานะชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ ฯลฯ ส่วนที่หลบภัยทางสังคม (societal shelter) จะให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนความรู้ บรรทัดฐาน หรือคุณค่าทางสังคม ที่เกิดจากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ จากการมีประชากร สังคม และสถาบันขนาดเล็ก[8]
การขยายอำนาจทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของจีนผ่านการริเริ่มแถบและเส้นทาง
การขยายความร่วมมือทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในห้าเสาหลักสำคัญของยุทธศาสตร์BRI คือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสู่ประชาชน แม้การศึกษาและการนำเสนอข่าวและภาพเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ร่ม BRI จะเน้นไปที่เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการค้า การลงทุน แต่จีนก็ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมเพื่อใช้เป็น soft power ในการเชื่อมคนสู่คนเช่นเดียวกัน โดยจีนพยายามใช้เรื่องเล่าและการบรรยายประวัติศาสตร์เส้นทางสายไหมเป็นฐานในการเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ให้เข้าร่วมกับ BRI และใช้การมีประวัติศาสตร์ร่วมกันเพื่อผูกสัมพันธ์กับประเทศใน BRI ให้แน่นแฟ้นขึ้น และในทางหนึ่ง ก็ส่งผลให้จีนสามารถขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ไปได้อย่างราบรื่น อาจเรียกได้ว่า เรื่องราวของเส้นทางสายไหมได้กลายเป็นสิ่งหนุนเสริมให้จีนได้ขยายอำนาจทางวัฒนธรรม ก็คงไม่เกินจริงไปเท่าใดนัก
วาทกรรมของ BRI เป็นการพยายามสร้างสะพานเชื่อมระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ ขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชน และภายในพื้นที่ทางการเมืองที่ซับซ้อนของ BRI นี้เองที่อดีตทางวัฒนธรรมของเส้นทางและการเชื่อมโยงต่าง ๆ บนเส้นทางสายไหมถูกนำกลับขึ้นมาพูดอีกครั้ง ได้รับการทำให้ฟื้นคืนให้มีชีวิตอีกครั้งอย่างระมัดระวัง และในที่สุดก็ถูกนำเสนอต่อโลก เส้นทางสายไหมจึงกลายเป็นช่องทางหนึ่งของจีนในการสร้างความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์วัฒนธรรม และในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่า อดีตกาลได้กลายมาเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินการทูตของชาติมหาอำนาจ
Tim Winter มองว่า อำนาจทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของจีนสร้างขึ้นมาจากปัจจัยสองประการ หนึ่ง คือ จีนเป็นหนึ่งในประเทศผู้เขียนประวัติศาสตร์โลก เนื่องจากมีประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันยาวนานหลายพันปี และสอง คือ จีนเป็นสถาปนิกสร้างสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก[9] BRI ที่เป็นยุทธศาสตร์ของจีนจึงเป็นอำนาจของเอเชียที่มีอิทธิพลมากขึ้นในการวางกรอบผลประโยชน์ระหว่างประเทศ โดยใช้เรื่องเล่าของการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค หรือแม้แต่ระดับโลก และอิงกับอารยธรรมพันปีของจีน ด้วยเหตุนี้ เส้นทางสายไหมจึงกลายมาเป็นอำนาจทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมรูปแบบใหม่ของจีนในยุคปัจจุบัน หลายประเทศที่ร่วมมือกับ BRI และมีประวัติศาสตร์ร่วมในเส้นทางสายไหม เช่น อิหร่าน ศรีลังกา รัฐอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย ฯลฯ ต่างมอง BRI ในฐานะพาหนะ (vehicle) ที่ตอบโจทย์วาระของประเทศไม่เพียงแค่การรักษาสถานะในเวทีระหว่างประเทศในเรื่องวัฒนธรรมและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่อารยธรรมของประเทศเหล่านี้มีต่อโลก แต่ยังเป็นการใช้ประวัติศาสตร์ในการสร้างสายสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับจีนด้วย
จีนได้หยิบยกเรื่องราวประวัติศาสตร์การเดินทางข้ามทวีปและการสำรวจทางทะเลของเจิ้งเหอมาเป็นเรื่องเล่าหลักของเส้นทางสายไหมทางทะเลทั้งในยุคโบราณและยุคปัจจุบัน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็อยู่ในเส้นทางสำรวจของเจิ้งเหอเช่นเดียวกัน บทความชิ้นนี้จึงจะสำรวจกรณีตัวอย่างจากประเทศขนาดเล็กที่ผูกโยงกับจีนผ่านเส้นทางสายไหมทางทะเลด้วยการมีความร่วมมือทางวัฒนธรรม และได้ขยายความร่วมมือไปยังด้านอื่น ๆ ในภายหลัง
ประเทศแรก คือ เคนย่า แม้ว่าเคนย่าจะตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาซึ่งดูห่างไกลจากจีนมาก แต่ก็มีการบันทึกไว้ว่า ในช่วงระหว่างค.ศ. 1405 -1433 เจิ้งเหอล่องเรือไปในหลายภูมิภาคทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รวมถึงแอฟริกาตะวันออกด้วย ในช่วงปลายค.ศ. 2013 มีรายงานว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของเคนย่ามีความตั้งใจที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ใต้น้ำแห่งแรกของประเทศ จึงเจรจาจัดตั้งความร่วมมือระยะ 3 ปี กับนักโบราณคดีชาวจีน โดยออกแบบโครงการให้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่ทางทีมความร่วมมือค้นพบ หลังจากเกิดความล่าช้าในช่วงต้น การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ก็เริ่มขึ้นในค.ศ 2015[10]นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน มีการรายงานข่าวว่า ได้มีการค้นพบเครื่องเคลือบ (porcelain) และเหรียญในสมัยราชวงศ์หมิง ในบริเวณชายฝั่ง หมู่บ้านใกล้ชายฝั่ง และบริเวณหมู่เกาะลามู (Lamu Islands) ของเคนย่า[11] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เคนย่ามีกับจีนมาอย่างยาวนาน
ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็เพิ่มการลงทุนในเคนย่ามากขึ้น เนื่องจากจีนมองว่า เคนย่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในฐานะประตูสู่แอฟริกาตะวันออก (gateway to East Africa) ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา กรุงไนโรบี (Nairobi) เมืองหลวงของเคนย่า และเมืองมอมบาซา(Mombasa) เมืองท่าสำคัญของเคนย่าบนชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ได้กลายเป็น nodes ทางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพราะจีนได้ลงทุนโครงการสร้างท่าเรือ ท่อส่งแก๊ส รางรถไฟ และโครงการผลิตไฟฟ้าในทั้งสองเมืองนี้ไปหลายพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ[12] หมู่เกาะลามู ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบโบราณวัตถุแสดงสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างจีนและเคนย่าเองก็ถูกวางเป็นจุดยุทธศาสตร์ โดยมีการลงทุนสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ (megaport) จากจีน มุ่งพัฒนาให้ท่าเรือลามูกลายเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก[13]นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2014 ยังมีการลงนามข้อตกลงระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อสร้างทางรถไฟเชื่อมกรุงไนโรบีกับเมืองมอมบาซา มูลค่ากว่า 3.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยเงินลงทุนกว่าร้อยละ 90 มาจากการกู้ยืมธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (Exim Bank of China) และร้อยละ 10 มาจากรัฐบาลเคนย่า[14]
ประเทศที่ 2 คือ ศรีลังกา ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเป็นอีกประเทศที่มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับจีนมาอย่างยาวนาน ในบันทึกการเดินทางของเจิ้งเหอเขียนไว้ว่า เจิ้งเหอเดินทางมาเยือนเกาะซีลอนถึง 6 ครั้ง[15] และมีการสันนิษฐานว่าอาจมีซากเรือของเจิ้งเหอหลงเหลืออยู่ในศรีลังกา ข้อตกลงเพื่อค้นหาและขุดค้นซากเรือของเจิ้งเหอในศรีลังกาจึงเกิดขึ้นในค.ศ. 2012 และ 2014 ท่ามกลางการถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ การสำรวจครั้งแรกเริ่มขึ้นที่น่านน้ำบริเวณฮัมบันโตตา ซึ่งในภายหลังกลายเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของจีน การสำรวจครั้งที่สองเกิดขึ้นเมืองท่าประวัติศาสตร์แกลเล
อย่างไรก็ดี ข้อตกลงความร่วมมือนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับทวิภาคีจีน-ศรีลังกา ที่ครอบคลุมไปถึงเรื่องความมั่นคงทางทะเลและชายฝั่ง การค้าเสรี การพัฒนาการท่องเที่ยว และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในศรีลังกา[16] ศรีลังกาที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้มากขึ้นจึงให้ความสำคัญกับหลักฐานทางวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการมาเยือนเกาะซีลอนของเจิ้งเหอ จนยอมจ่ายเพื่อซื้อขายหลักฐานเหล่านั้นหลายชิ้นเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 ประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษา ได้นำภาพพิมพ์ของแผ่นจารึกการเดินทางเยือนเกาะซีลอนครั้งที่ 2 ในช่วงค.ศ. 1409 มอบให้แก่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเนื่องในโอกาสการเดินทางเยือนศรีลังกา นับเป็นผู้นำจีนคนแรกในรอบสามสิบปีที่เดินทางไปศรีลังกา ซึ่งแสดงถึงทิศทางที่ดีในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคต[17]
จีนมองศรีลังกาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในมหาสมุทรอินเดียเช่นเดียวกับเคนย่า ศรีลังกาจึงเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การสร้างท่าเรือน้ำลึกและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่าโปรแกรม String of Pearls ซึ่งจะเป็นโครงการพัฒนากรุงโคลอมโบให้เป็นเมืองท่าที่ทันสมัย และพัฒนาท่าเรือฮัมบันโตตาให้เป็นท่าเรือขนาดใหญ่[18] ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีโครงการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าและโครงการสร้างทางด่วนหลายเส้นทาง ทำให้มูลค่าโครงการต่าง ๆ ที่จีนลงทุนในศรีลังกาในค.ศ. 2015 นั้นมีมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ[19]
กรณีของเคนย่าและศรีลังกาเป็นตัวอย่างของการส่งเสริมเรื่องเล่าของการเดินทางเจิ้งเหอจนเกิดเป็นความร่วมมือทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับความร่วมมือรูปแบบทวิภาคีด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นเราจึงไม่อาจมองข้ามพลังของวัฒนธรรมในฐานะพาหนะของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้ ซึ่งในกรณีของจีนกับ BRI นั้น ได้ใช้เส้นทางสายไหมเส้นทางต่าง ๆ ในฐานะพลังทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมเพื่อเข้าถึงประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทาง โดยชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่จีนและประเทศต่าง ๆ มีร่วมกันในประวัติศาสตร์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในอดีต และเชื่อมโยงมาจนถึงยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับมุมมองในการมองประวัติศาสตร์ชาติตนเอง โดยเริ่มมองว่าตนเองมีส่วนผูกโยงกับเส้นทางสายไหมเพื่อที่จะสร้างความร่วมมือกับจีน ซึ่งหากมองตามมุมมองทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมแล้ว การแผ่ขยายอำนาจทางภูมิศาสตร์วัฒนธรรมของจีนผ่านเส้นทางสายไหมนั้นอาจเป็นการพยายามสร้าง Chinese bloc ทางวัฒนธรรม จนเกิดการแบ่งแยกทางวัฒนธรรม (cultural differentiation) ระหว่างประเทศที่อยู่บนเส้นทางสายไหมกับประเทศอื่น ๆ ไปจนถึงการพยายามครอบงำทางวัฒนธรรม (cultural domination) ด้วยการพยายามสร้างกลุ่มวัฒนธรรมที่มีจีนเป็นศูนย์กลางโดยทำให้วัฒนธรรมต่าง ๆ ในเอเชียมุ่งกลับไปหาจีนผ่านเส้นทางสายไหม
ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ของของไทยในฐานะรัฐขนาดเล็ก
ตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ไทยได้มีความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับจีนมาเป็นระยะเวลานาน มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันอยู่ตลอด ทั้งยังมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมและวัฒนธรรมร่วมกันอีกหลายอย่าง เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก และในประเทศไทยก็มีชาวจีนโพ้นทะเลมาตั้งรกรากอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมจีนหลาย ๆ อย่างก็เป็นที่คุ้นเคยของคนไทย ความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีน ภายใต้ร่ม BRI จึงยังมีไม่มากนัก หลายความร่วมมือก็เป็นเหมือนการขยายความร่วมมือที่มีแต่เดิมอยู่แล้ว และผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้น ค.ศ. 2020ทำให้กิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนที่อยู่ภายใต้กรอบ BRI หยุดชะงักลง[20] แต่ที่ได้เริ่มดำเนินการไปก่อนหน้าการเกิดโรคระบาดแล้วแล้วก็มีส่วนหนึ่ง ดังนี้
1. สถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล
2. นิทรรศการเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21: นิทรรศการแสดงภาพวาดสีน้ำมัน
3. การจัดแสดงนิทรรศการพิเศษจิ๋นซีฮ่องเต้
4. การอัญเชิญเจ้าแม่มาจู่ (เจ้าแม่ทับทิม) มายังย่านเยาวราช
จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับจีนในเสาหลักการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ภายใต้กรอบ BRI ได้มีความร่วมมือทางวัฒนธรรมมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยเป็นความร่วมมือที่จีนเป็นฝ่ายรุกเข้ามาแทบทั้งสิ้น ไทยเป็นฝ่ายรับ และยังไม่ได้มีการขยายความร่วมมือให้ออกดอกผลมากไปกว่าที่เป็นอยู่
ในอนาคต ไทยควรมีนโยบายเชิงรุกด้านความร่วมมือทางวัฒนธรรมกับจีนเพื่อขยายความร่วมมือไปยังด้านอื่น ๆ อย่างที่ดังกรณีประเทศเคนย่าและศรีลังกา เพื่อขยายผลประโยชน์ของรัฐขนาดเล็ก แต่ด้วยกำลังและทรัพยากรที่มีน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ไทยควรสร้างความร่วมมือกับจีนด้วยอาเซียน ให้ความร่วมมืออยู่ในรูปแบบพหุภาคี ไม่ใช่รูปแบบทวิภาคี ต้องรวมกลุ่มกันไม่ใช่เพื่อดุลอำนาจกับมหาอำนาจ แต่เพื่อความอยู่รอด เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับมหาอำนาจ เพราะแม้ว่าทุกรัฐจะมีสถานะเท่ากันด้วยกฎหมาย แต่พลวัตทางอำนาจ (power dynamics) ก็ส่งผลต่อการเจรจาและการตัดสินใจของรัฐขนาดเล็กที่ต้องรับแรงกดดันจากอิทธิพลจากมหาอำนาจเสมอ ด้วยเหตุนี้ หากจะต้องทำความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระดับอาเซียน-จีน อาจจะต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมถึงรากวัฒนธรรมที่อาเซียนมีร่วมกัน และสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางสายไหมได้ เพื่อขยายผลประโยชน์ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI และที่สำคัญ ต้องมีการวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า เป้าหมายท้ายที่สุดแล้ว ไทยต้องการอะไรจากความร่วมมืออาเซียน-จีนนี้ เช่น เรื่อง status-seeking ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศในอาเซียน เป็นต้น
บทความนี้ได้ถูกนำเสนอในงานสัมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ การพัฒนางานวิจัยไทย - จีน สู่ความร่วมมือและพัฒนาโชคชะตาร่วมกัน ผ่านการจัดสัมนาออนไลน์ Zoom Meeting เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2564
อ้างอิง
[1] Andrew F. Cooper and Timothy M. Shaw, “The Diplomacies of Small States at the Start of the Twenty-first Century: How Vulnerable? How Resilient?”, in The Diplomacies of Small States: Between Vulnerability and Resilience, edited by Andrew F. Cooper and Timothy M. Shaw, 1-18 (Hampshire, UK and NY, USA: Palgrave Macmillan, 2009). [2] Hans Mouritzen and Anders Wivel, “Introduction”, in The Geopolitics of Euro-Atlantic Integration, edited by Hans Mouritzen and Anders Wivel, 1-11, (London, UK: Routledge, 2005) และ Julie Bivin Raadschelders, “Definition of Smallness: A Comparative Study”, in Public Administration in Small and Island States, edited by Randall Baker, 26-33, (West Hertford, CT: Kumarian Press, 1992). [3] Natalia Chaban, Serena Kelly, and Anne-Marie Brady, “Small States in a New Era of Public Diplomacy: New Zealand and Digital Diplomacy”, in Small States and the Changing Global Order: New Zealand Faces the Future, edited by Anne-Marie Brady 75-89, Basel, Switzerland: Springer, 2019). [4] John Henderson, “New Zealand and the Foreign Policy of a Small State”, in Beyond New Zealand II: Foreign Policy into the 1990s, edited by Richard Kennaway and John Henderson, 6-12, (Auckland: Longman Paul, 1991). [5] Charles Morrison and Astri Suhrke, Strategies of Survival: Th Foreign Policy Dilemmas of Smaller Asian States, NY: St. Martin’s Press, 1978. [6] Baldur Thorlhallsson, “How Do Little Frogs Fly? Small States in the European Union”, Norwegian Institute of International Affairs Policy Brief 12/2015, 2015. [7] Baldur Thorlhallsson, Small States and Shelter Theory: Iceland’s External Affairs, (NY: Routledge, 2019). [8] Anne-Marie Brady and Baldur Thorlhallsson, “Small States and the Turning Point in Global Politics”, in Small States and the New Security Environment, edited by Anne-Marie Brady and Baldur Thorlhallsson, 1-12, (Cham, Switzerland: Springer Nature Switzerland AG, 2021). [9] Tim Winter, 2019. Geocultural Power: China’s Quest to Revive the Silk Roads for the Twenty First Century. Chicago: University of Chicago Press. [10] Winter, 2019, 124. [11] Xinhua, “Kenyan islands with footprint of Chinese expeditionary voyages”, July 15, 2015, https://www.fmprc.gov.cn/zflt/eng/zjfz/fzfq/t1281461.htm [12] Institute of Developing Economies – Japan External Trade Organization, “China in Africa”, report, n.d., https://www.ide.go.jp/English/Data/Africa_file/Manualreport/cia_10.html [13] “เคนย่าเผย ‘ท่าเรือฝีมือจีน’ รองรับเรือสินค้าชั้นนำขนาดใหญ่”, ซินหัวไทย, 20 กรกฎาคม 2564, เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564, https://www.xinhuathai.com/eco/216520_20210720 [14] Yun Sun, “China and the East Africa railways: Beyond full industry chain export”, Brookings, July 6, 2017, accessed, October 26, 2021, https://www.brookings.edu/blog/africa-in-focus/2017/07/06/china-and-the-east-africa-railways-beyond-full-industry-chain-export/และ “จีนอาจยึดท่าเรือเคนยา หากเบี้ยวชำระหนี้”, posttoday, 29 ธันวาคม 2561, https://www.posttoday.com/world/575366 [15] Nalaka Godahewa, “Commemorating Zheng He, the Greatest Navigator to Visit Sri Lanka from China,” Daily FT, February 4, 2012, https://www.ft.lk/Opinion-and-Issues/commemorating-zheng-he-the-greatest-navigator-to-visit-sri-lanka-from-china/14-69932 [16] Ministry of Foreign Affairs, Sri Lanka, “Joint Statement between the People’s Republic of China and the Democratic Socialist Republic of Sri Lanka at the Conclusion of the Official Visit of Prime Minister Ranil Wickremesinghe,” April 9, 2016, https://mfa.gov.lk/jointstatement-slpmvisitchina/. [17] Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China, “Xi Jinping Holds Talk with President Mahinda Rajapaksa of Sri Lanka”,September 17, 2014, https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/topics_665678/zjpcxshzzcygyslshdsschybdtjkstmedfsllkydjxgsfw/t1192338.shtml [18] Winter, 2019, 125. [19] Wade Shepard, “China’s Jewel in the Heart of the Indian Ocean”, The Diplomat, May 9, 2016, https://thediplomat.com/2016/05/chinas-jewel-in-the-heart-of-the-indian-ocean/ [20] ศิริลักษม์ ตันตยกุล, 2564, “ความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและจีน ภายใต้กรอบ BRI” (สัมภาษณ์, 14 มิถุนายน 2564, ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร ผู้สัมภาษณ์)
Comments