top of page

RCEP: อาเซียนศูนย์กลาง ทางออกสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ




เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สถาบัน Brookings ได้เผยแพร่บทความเรื่อง โดย Peter A. Petri and Micheal Plummer มีเนื้อหาเกี่ยวกับ RCEP หรือที่รู้จักกันในนาม ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่ได้ริเริ่มมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับประเทศคู่ภาคีอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยตั้งใจจะให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือเขตการค้าเสรีรอบด้าน มีประเทศสมาชิก 16 ประเทศร่วมเจรจาหาข้อตกลงที่มีทั้งหมด 21 บท โดย RCEP พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเชียและโลก


RCEP นั้นอาจกลายเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ลำดับที่สองที่นำโดยเอเชีย หลังจากที่ทรัมป์ถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) เมื่อ 2017 สมาชิก TPP ที่เหลืออีก 11 ประเทศ จึงรวมตัวแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Comprehensive Progressive Trans-Pacific Partnership (CPTPP) โดยยึดหลักการเดิมของ TPP และลงนามไปเมื่อมีนาคม ปี 2018 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 30 ธันวาคม ปีเดียวกัน ขณะเดียวกัน RCEP ก็กำลังหารือเช่นกัน แต่สถานการณ์ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถลงนามได้ทันในปีนี้


หาก RCEP ได้ข้อสรุปและลงนามกันเรียบร้อย RCEP จะมีศักยภาพเป็นตัวส่งเสริมระบบการค้าขายที่มีประสิทธิภาพของโลก และจะเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีประชากรจำนวน 3.6 พันล้านคน มี GDP สูงถึง 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ ที่สำคัญ RCEP จะเป็นความตกลงที่นำโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดที่เคยรวมตัวกันมา และจะเป็นความตกลงแรกที่รวมเอาจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้มาไว้ด้วยกันภายใต้พันธกรณีขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการขึ้นมามีบทบาทนำของตะวันออกในทางการค้าโลกในยุคนี้


นอกจากนี้ RCEP จะช่วยให้การค้าโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จะเพิ่มรายได้ให้กับโลกราว 286 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (ประมาณ 0.2 ของ GDP โลก) ซึ่งจะมีรายได้มากกว่า CPTPP เกือบสองเท่า

แต่การที่ RCEP จะสำเร็จเห็นผลก็ไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก การเจรจาหาข้อสรุป RCEP มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยจากการประชุมเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน เช่น อินเดียเสนอที่จะภาษีน้อยกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ หรือไม่เห็นด้วยกับการลงทุนและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และการประชุมครั้งล่าสุดของ RCEP เมื่อปลายตุลาคมที่โอ๊คแลนด์ก็ดูไม่มีความคืบหน้ามากนัก ปัญหาต่างๆ ดูจะยิ่งรุมเร้าและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เกินกว่าที่จะหาข้อสรุปได้ภายในไม่กี่เดือน


สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็ยิ่งทำให้การเจรจา RCEP ยุ่งยากขึ้นไปอีก ในแง่บวก มันทำให้ประเทศในเอเชียหลายประเทศรู้สึกว่าต้องรวมตัวกันเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งเพื่อต้านทานการข่มเหงจากสหรัฐฯ อีกทั้งในข้อตกลงของสหรัฐฯ ทั้ง USMCA ที่สหรัฐฯ ไปทำไว้กับเม็กซิโกและแคนาดา รวมถึงข้อตกลงอื่นๆ สหรัฐฯ ได้วางกับดักไว้ว่าห้ามประเทศสมาชิกในข้อตกลงเหล่านี้ ไปลงนามร่วมกับประเทศที่ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งก็หมายถึงจีนอย่างแน่นอน การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ ส่งผลให้ RCEP ยิ่งต้องรีบหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว


ในทางกลับกัน หลายคนก็กังวลว่าสงครามการค้าที่สหรัฐฯ โจมตีจีน จะส่งผลให้จีนเปลี่ยนการส่งออกจากสหรัฐฯ มาสู่ตลาดของตนแทน ขณะที่ประเทศอย่างเวียดนามหรืออินเดียอาจจะได้รับประโยชน์อย่างมากในตลาดสหรัฐฯ ที่จีนควบคุมอยู่ตอนนี้ สงครามการค้าครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) ซึ่งทำให้หลายประเทศลังเลใจที่จะทำสัญญาระยะยาวอีก แต่สิ่งที่กล่าวมาก็คงจะไม่ทำให้ RCEP สะดุดลง ผลทางเศรษฐกิจของ RCEP นั้นน่าจะมีสูงมาก ซึ่งหลายๆ อย่างก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ข้างหน้า แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า RCEP จะสู้ CPTPP ไม่ได้ ใน RCEP บางประเทศลดภาษีแค่ร้อยละ 80 และมีระยะเวลานานในการค่อยๆ ลดภาษีเป็นลำดับกว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่ CPTPP ลดภาษีเกือบร้อยละ 100 และหากนอกเหนือจากมาตรการภาษีแล้ว RCEP ก็ไม่ค่อยมีผลอะไรมากในเชิงที่ช่วยทำให้การค้าเสรีมากขึ้น เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

จริงอยู่ ที่คาดการณ์ไว้ว่า RCEP จะสร้างรายได้มากกว่า CPTPP แต่ CPTPP จะช่วยให้สมาชิกมี GDP ที่สูงกว่า และหาก CPTPP เพิ่มจำนวนสมาชิก ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น รายได้ของ CPTPP คงจะเอาชนะ RCEP ได้ ที่สำคัญ CPTPP นั้นมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในระดับโลก บทบัญญัติต่างๆ CPTPP ถูกนำไปใช้ในข้อตกลงต่างๆ รวมถึงข้อตกลง USMCA ที่สหรัฐฯ เพิ่งไปทำร่วมกับเม็กซิโกและแคนาดาด้วย หรือแม้แต่ RCEP เอง ก็ได้นำบทบัญญัติของ CPTPP บางข้อมาใช้ประโยชน์ในการเจรจา และมีรายงานว่าออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีการเรียกร้องให้บทบัญญัติบางประการของ CPTPP มาใช้ใน RCEP ด้วย


จะเห็นว่า ในขณะที่ทั่วโลกกำลังหาหนทางประคองตัวเองในภาวะที่เกิดสงครามการค้าครั้งนี้ ในสถานการณ์ที่วาระการพัฒนาของ WTO ในรอบการประชุมที่โดฮาก็ดูย่ำแย่ ขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปก็ใช้ประชานิยมทำให้เกิดชาตินิยม รวมถึงใช้นโยบายกีดกันทางการค้าและปกป้องการค้าภายในประเทศ RCEP ก็ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งข้อเสนอที่ดีมากสำหรับทางออก RCEP นั้นให้ทางเลือกการพัฒนาที่มีศูนย์กลางการพัฒนาอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนาที่รวมกลุ่มขนาดใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง RCEP ไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นในการรวมตัวกันระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อโลกอย่างมหาศาลในทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึงหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ


ปลายฟ้า บุนนาค แปลและเรียบเรียง พฤศจิกายน 2561


แปลและเรียบเรียงจาก: Petri, Peter and Plummer, Michael. “The case for RCEP as Asia’s next trade agreement.” East Asia Forum, November 6, 2018. http:// https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2018/11/06/the-case-for-rcep-as-asias-next-trade-agreement/ (accessed November 11, 2018)





ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page