top of page

ต้อนรับ Dr.QI Wei รองผู้อำนวยการสถาบัน CCCWS สาธารณรัฐประชาชนจีน




คุณยุวดี คาดการณ์ไกล รองประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ และในฐานะรองประธานศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ศทจ.วช.) ได้ร่วมต้อนรับและดำเนินรายการประชุมร่วมกับ Dr.QI Wei รองผู้อำนวยการสถาบัน China Center for Contemporary World Studies (CCCWS) และทีมวิจัยจำนวน 5 คน ได้มาเยี่ยมและแลกเปลี่ยนกับศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทยจีน โดย CCCWS เป็นสถาบัน Think Tank ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการระหว่าง Think Tank ของทั้งสองประเทศ ฝ่ายจีนต้องการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นของฝ่ายไทย เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานทางวิชาการ และนำข้อมูลและข้อเสนอจากที่ประชุม ขยายผลไปสู่ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนต่อไป



ภาพ Dr.QI Wei รองผู้อำนวยการสถาบัน China Center for Contemporary World Studies (CCCWS)



การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ กรรมการที่ปรึกษาศูนย์ยุทธศาสตร์ไทยจีน เป็นประธานในการประชุม และมีนักวิชาการฝ่ายไทย 2 ท่าน คือ รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ และ รศ.ดร.วรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ นักวิชาการของสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ทั้งนี้ในการประชุม พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยศูนย์ยุทธศาสตร์ไทยจีน ได้กล่าวเปิดการประชุมผ่านทางออนไลน์





เนื้อหาในการประชุม นักวิชาการฝ่ายไทยได้สรุปประเด็นข้อคิดและข้อเสนอที่จะทำให้จีนและไทยมีความร่วมมือที่ได้ประโยชน์กับทั้งสองประเทศได้ดียิ่งขึ้น ความเห็นจากฝ่ายไทยในวันนี้ เป็นการพูดจากประสบการณ์ของนักวิจัยที่สนใจจีน ที่ได้มีการทำวิจัย การเฝ้าติดตามเรื่องจีน มีการจัดเวทีระดมสมองระหว่างนักคิดไทยในประเด็นเรื่องจีน และประมวลออกมาเป็นข้อเสนอ


ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในภาพรวม

จีนควรเข้าใจในเบื้องต้นต่อบริบทและโครงสร้างการบริหารของไทย

  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง พื้นที่ประเทศไทยจึงไม่ใช่พื้นที่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะครอบงำได้

  • ประเทศไทยเป็นประเทศเสรี ปกครองแบบประชาธิปไตย บทบาทของรัฐบาลไทยจะมีหน้าที่เป็น facilitator และสร้าง Ecology ให้เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อภาคเอกชนและภาคประชาชนให้สามารถขับเคลื่อนดำเนินโครงการได้

  • กลไกการตัดสินใจทางนโยบายของไทยและจีนมีความแตกต่างกัน รัฐบาลไทยไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะสั่งการได้เด็ดขาด ทำให้หลายเรื่องที่รัฐบาลเจรจาตกลงกับต่างประเทศมาแล้ว ยังต้องนำมาหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในประเทศอีก จนเห็นพ้องร่วมกัน กว่าจะได้ตัดสินใจ


ข้อเสนอแนะต่อประเด็นเฉพาะ

ประเด็น bilateral relations และ economic cooperation.

  • ในการเจรจาความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน จีนควรให้ความสำคัญด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยแบบ Wins-Wins ยิ่งกว่านั้น ในบางครั้งควรคำนึงถึงสิ่งที่จะให้มากกว่าสิ่งที่จะได้รับ (You must give more than you take) หรือยอมเสียผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อหวังผลระยะยาว ซึ่งต้องเป็นการเจรจาแบบยืดหยุ่น ยกตัวอย่าง เช่นเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในการสร้างรถไฟความเร็วสูง จีนควรมองถึงเป้าหมายใหญ่ของ BRI และให้โครงการรถไฟไทยจีนมีความก้าวหน้าเสร็จเร็ว ควรให้อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษแก่ไทย ไม่ควรให้การเจรจาต่อรองเรื่องดอกเบี้ยกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้โครงการรถไฟไทยจีนเดินไปช้า เป็นต้น

  • ความร่วมมือในด้านการลงทุน ปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง สิ่งหนึ่งที่จะช่วยไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางนี้ได้คือ นวัตกรรม (Innovation) ซึ่งจะต้องอาศัยการลงทุนและการค้าเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยจึงมีความต้องการลงทุนในนวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งทราบดีว่าจีนมีความแข็งแกร่งในด้านนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสของทั้งไทยและจีนที่จะร่วมมือกัน และอยากให้จีนมองความได้เปรียบของไทย (ทำเลที่ตั้งที่ดีในภูมิภาค มีระบบ Logistic ที่เอื้ออำนวย มีความพร้อมของเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน) และให้ไทยเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ที่จะร่วมมือกันในการผลิตสินค้านวัตกรรมที่เป็นความจำเป็นในอนาคตสู่ตลาดโลก ซึ่งต้องอาศัยเวทีการพบปะพูดคุยกันระหว่างภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อตกผลึกในการร่วมมือกันในนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญ

ประเด็น regional and international situations & people-to-people ties.

  • ประเด็นความร่วมมือล้านช้างแม่โขง (LMC) จากงานวิจัย เท่าที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนภาคประชาชน NGOของไทย และนักวิชาการในพื้นที่ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ค่อยเห็นนักวิชาการจีน หรือตัวแทนภาครัฐจีนลงพื้นที่ริมแม่น้ำโขงเพื่อพูดคุยรับทราบปัญหาและนำไปแก้ไข ชาวบ้านอยากเห็นตัวแทนฝ่ายจีนทำงานร่วมกับชาวบ้านต่อเนื่องและเกาะติดในพื้นที่ ชาวบ้านริมโขงรู้สึกว่า นักวิชาการที่ทำงานในองค์กร NGO ของตะวันตกทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านกว่า จัดฝึกอบรม ให้ความรู้ จัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้าน ร่วมรับรู้ปัญหา เข้ามาร่วมทำโครงการพัฒนาต่างๆ ตามความต้องการของชาวบ้าน แม้ว่าอาจแก้ไขปัญหาไม่ได้มาก แต่อย่างน้อย นักวิชาการตะวันตกสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนมากกว่า เพราะชาวบ้านริมโขง 8 จังหวัดของไทยเดือดร้อน เขาต้องการความเห็นอกเห็นใจ การสร้างช่องทางเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้ผลกระทบเชิงลบ ได้สื่อสารไปถึงทางการจีน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่สำคัญ ในความไว้วางใจต่อความร่วมมือกับจีนในโครงการความร่วมมือ LMC ในระยะยาว

  • ความร่วมมือระหว่าง Think Tank ไทยกับจีน จีนควรให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่าง Think Tank ไทยกับจีน เพราะเป็นช่องทางที่สร้างความสัมพันธ์ people-to-people ได้ดี ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏความร่วมมืออย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือจัดประชุม 1 ครั้ง แล้วก็แยกย้ายกันไป ไม่มีความต่อเนื่อง ไม่มีแผนระยะยาว และหลายครั้งเป็นความร่วมมือ จัดกิจกรรมมากว่าการทำงานสร้างองค์ความรู้ร่วมกันเพื่อหาคำตอบแก้ไขปัญหาร่วมกันกับหน่วยงาน Think Tank ของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง Think Tank ที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง และเวลานี้เรามีหลายประเด็นที่เผชิญร่วมกัน เช่น สังคมผู้สูงอายุ, Climate Change เป็นต้น




ดู 45 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page