“ประเทศชาติควรสร้างคนให้รู้จักการปรับตัวกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมโลกในปัจจุบัน รวมถึงต้องสร้างคนให้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เพื่อฝึกฝนทักษะในการคาดเดาต่อโอกาสและภัยคุกคามต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561 สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เข้าร่วมการจัดอบรมผู้บริหารและครูจากสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 500 ท่าน ณ โรงแรมเอเชียพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อเผยแพร่แนวทางการจัดการศึกษาสู่บูรพาภิวัตน์ โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานสถาบันฯ รศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์ และคุณยุวดี คาดการณ์ไกล รองประธานสถาบันฯ ร่วมเสนอแนวทางการจัดการศึกษา ดังนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มองว่าด้วยโครงสร้างของโลกที่เปลี่ยนไปประเทศตะวันออกเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมีขนาดเศรษฐกิจ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับประเทศตะวันตก หลายประเทศประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและกลายเป็นต้นแบบการพัฒนา อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น การผงาดขึ้นของประเทศตะวันออกไม่ได้หมายความว่าตะวันตกจะเสื่อมถอยหรือล้มเหลวทั้งหมด แต่มีแนวโน้มที่ประเทศตะวันตกและตะวันออกจะเจริญเติบโตอย่างทัดเทียมกันมากขึ้น อันที่จริงรากฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีความใกล้ชิดทั้งกับจีนและอินเดียในด้านภาษา วัฒนธรรม และศาสนา ดังนั้นการหวนกลับมาหาคุณค่าและภูมิปัญญาความเป็นตะวันออกจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับสังคมไทยแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์
การจัดการศึกษาแบบบูรพาภิวัตน์ในเบื้องต้นนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเราเรียนประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยตะวันตก ซึ่งส่งผลให้เรามีความทรงจำ ความเชื่อ และอคติต่อคนบางกลุ่ม เช่น ละตินอเมริกา คนผิวสีในแอฟริกา และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น หากเราเข้าใจประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและมีความรอบด้านจะทำให้เรามีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันมากขึ้น ส่วนแนวทางการจัดการศึกษาแบบบูรพาภิวัตน์ที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ทันทีนั้น ดร.เอนก เสนอให้ส่งเสริมการศึกษานอกหลักสูตร อาทิ การทัศนศึกษา การสอนโดยทำให้ผู้เรียนมีความสนุกกับการเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ การเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาถ่ายทอดประสบการณ์ในห้องเรียน ฯลฯ นอกจากนี้ ควรให้ความสนใจต่อประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จีน อินเดีย และประเทศอื่นๆในตะวันออกให้มากขึ้นเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์และภูมิปัญญาของโลกตะวันออกมาสู่การพัฒนาประเทศไทยต่อไป
รศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์
ขณะที่ รศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์ อธิบายถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องปฏิรูปการศึกษาแบบบูรพาภิวัตน์ โดยยกคำกล่าวของ ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตร์สิงคโปร์ มาเป็นแนวทางว่า “ประเทศชาติควรสร้างคนให้รู้จักการปรับตัวกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมโลกในปัจจุบัน รวมถึงต้องสร้างคนให้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เพื่อฝึกฝนทักษะในการคาดเดาต่อโอกาสและภัยคุกคามต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ระบบการศึกษาของไทยจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทแทนที่มนุษย์ เช่น งานด้านข้อมูล ธนาคาร และการค้าขาย ไทยจะต้องจัดการศึกษาเพื่อรองรับกับยุค “Disruptive Technology” ซึ่งการศึกษาในระบบยังคงมีความจำเป็นแต่ต้องไม่ใช่ในลักษณะ “One Size Fits All” อีกต่อไป เนื่องจากความถนัดของนักเรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน องค์ความรู้เฉพาะทางหรือวิชาชีพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างบุคลากรให้มีความรู้และความชำนาญที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เช่น ด้านคอมพิวเตอร์และ ICT เป็นต้น นอกจากนี้ การศึกษายังต้องก้าวพ้นการท่องจำแบบเดิมๆและควรเพิ่มการลงมือปฏิบัติให้มากขึ้น ขณะที่การจัดการศึกษาในท้องถิ่นจำเป็นต้องสร้างความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) จากจุดเด่นในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับหลักสูตรการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น โดยมีตัวอย่างจากประเทศจีนซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีในการปรับตัวจนสามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว และก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกได้ในที่สุด
คุณยุวดี คาดการณ์ไกล
คุณยุวดี คาดการณ์ไกล รองประธานสถาบันฯ เสนอว่าแนวทางการจัดการศึกษาแบบบูรพาภิวัตน์จำเป็นต้องเริ่มจากครูผู้สอนที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดพร้อมกับการเรียนรู้และลงมือทำวิจัยด้วยตนเอง ขณะที่การสอนวิชาประวัติศาสตร์ควรให้ความสำคัญกับโลกตะวันออกมากขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในอารยธรรม วัฒนธรรม ประเพณี และความภาคภูมิใจต่อโลกตะวันออกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสอนภาษาประเทศเพื่อนบ้าน (กลุ่ม CLMV) เพื่อสามารถตอบสนองความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เหมาะสมกับท้องถิ่นได้ หรือการจัดทัศนศึกษาในประเทศตะวันออกเพื่อให้ผู้เรียนได้มีแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง และการใช้ภาพยนตร์จากประเทศโลกตะวันออกเป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างความเข้าใจสภาพสังคม วิถีชีวิต ก้าวข้ามมายาคติต่างๆอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตไปพร้อมกับโลกตะวันออก
กล่าวโดยสรุป ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของโลกตะวันออกให้มากขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ผงาดขึ้นมามีบทบาทนำทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างรวดเร็วของกลุ่มประเทศตะวันออก ทั้งๆที่ในอดีตประเทศเหล่านี้เคยตกเป็นอาณานิคม เป็นประเทศกำลังพัฒนา และถูกมองว่าล้าหลัง แต่กลับสามารถปฏิรูปประเทศจนกลายเป็นแม่แบบการพัฒนาในที่สุด ดังนั้น การศึกษาแบบบูรพาภิวัตน์จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการหาทางออกให้กับการศึกษาไทย เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่ก้าวทันต่อทิศทางการพัฒนาของโลกได้ ทั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่สภาการศึกษาคาทอลิกให้ความสนใจนำร่องแนวคิดบูรพาภิวัตน์สู่การปฏิรูปการศึกษาไทย
*หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงจากการบรรยายในหัวข้อ “การจัดการศึกษาสู่บูรพาภิวัตน์ ไทยแลนด์ 4.0” จัดโดย สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย วันที่ 21 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเอเชียพัทยา จังหวัดชลบุรี
สรุปและเรียบเรียง: กอปร์ธรรม นีละไพจิตร ผู้ช่วยนักวิจัย
ภาพปก: ฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม ผู้ช่วยนักวิจัย
Comments