top of page

จีนในตะวันออกกลาง: กระชับสัมพันธภาพกับอาหรับผ่านเส้นทางสายไหม




ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนขั้วจากซีกโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออก ประชาคมโลกต่างหันมาให้ความสนใจการผงาดขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง บทบาทของจีนในการเมืองระหว่างประเทศ หรือสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา บทวิเคราะห์เรื่อง China & Middle East: Regional Rebalancing โดย Sanam Vakil จาก The Hoover Institution สถาบัน think tank และสถาบันวิจัยด้านนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ One Belt One Road ที่มีจุดประสงค์กระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และอียิปต์ นโยบายดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนบทบาทของจีนที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในการเมืองโลก แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางในบริบทที่สหรัฐอเมริกาเริ่มลดบทบาทลงไป


ภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เคยเป็นสมรภูมิระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกในช่วงสงครามเย็น กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญในภูมิภาค การก้าวขึ้นมาของจีนในตะวันออกกลางเพื่อแสวงหาแหล่งพลังงาน และสานสัมพันธ์ระดับภูมิภาคผ่าน โครงการ One Belt One Road (OBOR) กับประเทศตะวันออกกลางต่างๆ เช่น อียิปต์ อิหร่าน จอร์แดน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้อำนาจและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคที่เคยโดดเด่นมาอย่างยาวนานถดถอยลงไป นักยุทธศาสตร์อเมริกันหลายคนมองว่า บทบาทของจีนในตะวันออกกลางถือเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์สหรัฐฯ ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลทรัมป์และรัฐบาล

โอบามาต่างก็มีนโยบายถอนตัวออกจากปัญหาต่างๆ ในตะวันออกกลาง เนื่องจากทั้งคู่มองว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ไม่ได้ผลลัพธ์คุ้มต้นทุนที่เสียไป การลดบทบาทของสหรัฐฯ จึงเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้ดุลอำนาจระดับภูมิภาคค่อยๆ เคลื่อนจากซีกโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออกในไม่ช้า


จากสามเส้นทางประวัติศาสตร์สู่ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”



บทบาทของจีนในตะวันออกกลางนั้นมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน จีนเคยเดินทางเข้าไปในภูมิภาคตะวันออกกลางอยู่สามครั้ง ครั้งแรกคือสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ซึ่งเป็นยุคที่เส้นทางสายไหมเชื่อมต่อการค้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก ครั้งที่สองคือสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) ซึ่งเป็นยุคที่ เจิ้งเหอ ผู้บัญชาการทหารเรือจีน บังคับกองเรือสำเภาขนาดใหญ่เพื่อออกสำรวจทางทะเล และผ่านเข้าไปในแถบเปอร์เซียและอียิปต์ ภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี ค.ศ. 1949 รัฐบาลเหมาพยายามที่จะชักจูงประเทศโลกที่สามให้ออกจากอ้อมกอดของสหรัฐอเมริกามาอยู่ข้างจีนที่กลายเป็นมหาอำนาจโลกอีกแห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าความพยายามครั้งนี้จะไม่เป็นผลสำเร็จ จีนพยายามเข้าไปมีบทบาทในตะวันออกกลางอีกเป็นครั้งที่สามในสมัยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดยในปี ค.ศ. 2013 เขาได้ประกาศโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road (OBOR)) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งจะเชื่อมต่อทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ผ่านเส้นทางสายไหมทางบก (the Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (the Road) เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 นี้จะใช้เงินลงทุนสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อ 70 ประเทศทั่วโลกผ่านการสร้างท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำมัน การเชื่อมต่อระบบขนส่งนี้จะช่วยให้บริษัทจีนได้รับประโยชน์ระยะยาวจากการก่อสร้างและการส่งออกสินค้าจีนไปสู่ตลาดต่างประเทศตามเส้นทาง OBOR โดยโครงการสร้างเส้นทางสายไหมนี้อาศัยเงินทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (the Asian Investment Infrastructure Bank (AIIB)) กองทุนเส้นทางสายไหม (the Silk Road Fund) และธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (the New Development Bank)


การพัฒนาคือกุญแจไขปัญหาตะวันออกกลาง


ภูมิภาคตะวันออกกลางนับเป็นจุดเชื่อมต่อโลกตะวันออกและตะวันตกของโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 นับตั้งแต่ ค.ศ. 2010 จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางรายใหญ่ที่สุด และเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางเจ้าใหญ่ที่สุด แม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและตะวันออกกลางในระยะแรกจะเน้นด้านเศรษฐกิจ แต่ในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองมากขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นว่าตะวันออกกลางมีส่วนเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายจีนที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น จะเห็นได้ว่า ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 จีนปล่อยเงินกู้มูลค่า 20,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และให้เงินช่วยเหลืออีก 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ เช่น ปาเลสไตน์ ซีเรีย เยเมน และเลบานอน การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินนี้มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มองว่า “แนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตะวันออกกลางคือการส่งเสริมการพัฒนา” นอกจากนี้ Vakil มองว่า การที่รัฐบาลจีนแต่งตั้งทูตพิเศษคนใหม่ในการเจรจาปัญหาซีเรีย และในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง ต่างสะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังพิจารณาคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคนี้ การที่รัฐบาลจีนแต่งตั้งทูตพิเศษคนใหม่ในการเจรจาปัญหาซีเรีย และในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง ต่างสะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังพิจารณาคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาคนี้


ผลักดันเส้นทางสายไหมในโลกอาหรับ


การเดินทาง การค้า และการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลของประเทศในตะวันออกกลางแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังก้าวเข้ามามีบทบาทและมีปฏิสัมพันธ์กับตัวแสดงหลักหลายรายในภูมิภาค ในปี ค.ศ. 2016 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเดินทางไปเยือนอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่สำคัญต่อวิสัยทัศน์ OBOR ของจีนเป็นอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่านก็เดินทางไปยังปักกิ่ง ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2018 เพื่อขอความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตร และถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ทำไว้เมื่อปี ค.ศ. 2015 ในแง่นี้ การนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านของจีนไม่เพียงช่วยปกป้องอิหร่านจากมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จีนยังมีโอกาสก้าวเข้ามาแทนที่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Total ในการลงทุนบ่อน้ำมัน South Pars ในคาบสมุทรเปอร์เซียอีกด้วย


ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซีของอียิปต์เดินทางไปเยือนปักกิ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 2018 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์กับจีน ในฐานะหุ้นส่วนการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอียิปต์ จีนได้เจรจาการค้าเสรี มุ่งมั่นที่จะลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในกรุงไคโร และช่วยสนับสนุนเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าสุเอซ (The Suez Economic and Trade Cooperation Zone) ที่เชื่อมยุโรปกับตะวันออกกลาง นอกจากนี้ จีนได้เพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งยังสนใจลงทุนโครงการทางรถไฟ Red-Med ที่เชื่อมต่อทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน


จีนยังมีบทบาทที่สำคัญด้านการค้าและการลงทุนในคาบสมุทรอาหรับ โดยแผนพัฒนาระดับภูมิภาค เช่น วิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดีอาระเบีย หรือ วิสัยทัศน์ 2025 ของจอร์แดน ล้วนเชื่อมโยงกับโอกาสในการลงทุนของ OBOR ในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในตะวันออกกลาง สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด แห่งซาอุดีอาระเบีย เสด็จฯ เยือนปักกิ่งในปี ค.ศ. 2017 แล้วทรงลงนามในสัญญาทางการค้ามูลค่า 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 จีนยังเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอาหรับ (Arab Summit) ที่มีประเทศอาหรับ 21 ประเทศเข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้ประกาศว่าจะวางแผนการเจรจาเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนและประเทศอาหรับ ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ากับจีนรายใหญ่ที่สุดอันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบียก็ได้ลงนามในสัญญาการค้าการลงทุนหลายฉบับกับจีน


ความเป็นกลางทางการทูต เน้นลงทุนทางเศรษฐกิจ


ถึงแม้ว่าจีนเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยแรงจูงใจทางการค้า แต่จีนก็ต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนภายในประเทศและหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในที่จีนยึดถือมาอย่างช้านาน อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของโครงการ OBOR ตั้งอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงในภูมิภาคที่ไร้เสถียรภาพโดยสิ้นเชิง ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นสงครามในซีเรีย และเยเมน การก่อการร้าย ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมไปถึงข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ล้วนมีความสำคัญและอาจส่งผลให้จีนจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในมากยิ่งขึ้นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัยต่อการลงทุน แต่การพลิกนโยบายต่างประเทศเช่นนี้อาจทำให้รัฐบาลจีนต้องเผชิญปัญหากับไต้หวัน และเปิดช่องทางให้มีการแทรกแซงทางการเมืองจากภายนอก ดังนั้น ในขณะนี้ จีนจึงดำเนินสองนโยบายคู่กัน นั่นคือ การวางตนเป็นกลางทางการทูต และการลงทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยืนยันจุดยืนนี้อย่างชัดเจนว่า “แทนที่จะหาตัวแทนรบในสงครามตะวันออกกลาง เราจะส่งเสริมการเจรจาสันติภาพ แทนที่จะมองหาเขตอิทธิพล เราจะเรียกให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันในโครงการ Belt and Road แทนที่จะพยายามเติมเต็มภาวะสุญญากาศ เรามุ่งที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือและหุ้นส่วนเพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน”


การเปลี่ยนขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวส่งผลต่อประเทศตะวันออกกลางอย่างมีนัยสำคัญในหลายๆ แง่ ในแง่หนึ่ง โครงการ OBOR สร้างความหลากหลายทางภูมิศาสตร์การเมืองด้วยการเพิ่มการเชื่อมต่อภายในซีกโลกตะวันออก และการส่งเสริมการลงทุนทางเศรษฐกิจแบบไม่มีข้อผูกมัด แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง จีนขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ตะวันออกกลางท่ามกลางสงครามความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่ในภูมิภาค ในระยะยาว สงครามความขัดแย้งและการห้ำหั่นกันทางเศรษฐกิจระหว่างคู่กรณีในภูมิภาคจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อไร้ซึ่งการถ่วงดุลอำนาจของอเมริกาในอนาคต


ความสัมพันธ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเติบโตส่งเสริมให้จีนมีบทบาทและอิทธิพลทางการทูตและการทหารในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น นโยบายของจีนในตะวันออกกลางถือเป็นส่วนหนึ่ง (microcosm) ของแผนยุทธศาสตร์ที่จีนมีต่อโลก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อธำรงรักษาโลกให้มีเสถียรภาพ เพื่อที่จีนจะได้มุ่งมั่นกับการพัฒนาภายในบ้าน และได้มีบทบาทผูกพันใกล้ชิดกับโลกที่กำลังพัฒนา ในขณะที่มหาอำนาจจะต้องสร้างดุลยภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วยการร่วมมือกับจีนและตัวแสดงอื่นๆ ในภูมิภาค อาเซียนที่มีทำเลที่ตั้งบนเส้นทาง One Belt, One Road ก็ควรจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนและตะวันออกกลาง และประสานความร่วมมือกับจีนทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาร่วมกัน


โศภนิศ อังศุสิงห์ แปลและเรียบเรียง กุมภาพันธ์ 2562

แปลและเรียบเรียงจาก: Vakil, Sanam. “China & Middle East: Regional Rebalancing.” The Hoover Institution. October 4, 2018. https://www.hoover.org/research/china-middle-east-regional-rebalancing (accessed February 13, 2019).

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page