top of page

บทบาทสตรีในขบวนการอิสลาม: พลังแห่งสิทธิ เสรีภาพ และสันติภาพ


ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิมไม่ว่าจะในภูมิภาคตะวันออกกลางหรือในประเทศไทย ที่ปรากฏตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่อสังคมต่างๆ ส่งผลให้ผู้คนทั่วไปให้ความสนใจหรือรับรู้เกี่ยวกับโลกมุสลิมผ่านความรุนแรง สงครามความขัดแย้ง และความเกลียดชังทางศาสนา บ่อยครั้งที่เมื่อพูดถึงสังคมชาวมุสลิม เราก็จะนึกถึงภาพของผู้หญิงมุสลิมที่ถูกกดขี่ ขาดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ทางสังคมและศาสนา


ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว รวมทั้งความสำคัญที่จะต้องมีการศึกษาและอภิปรายหัวข้อเรื่องโลกมุสลิมในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องสงครามความรุนแรง การกีดกันทางเชื้อชาติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมมุสลิม ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ศูนย์มุสลิมศึกษา ร่วมกับ Religious Studies Program, Victoria University of Wellington และ Middle East Institute, National University of Singapore จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง Female Agency and Islamic Activism: Thai Case Studies in Localizing the Global ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จุดมุ่งหมายของการสัมมนาในครั้งนี้คือการขยายหัวข้อและประเด็นในการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องชุมชนชาวมุสลิมในประเทศไทยให้พ้นไปจากประเด็นเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงในเชิงศาสนาและชาติพันธุ์ นอกจากนี้ งานวิจัยต่างๆ ที่นำเสนอในงานนี้ยังชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมุสลิมมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวของอิสลามทั่วโลก และมีส่วนช่วยส่งเสริมขบวนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและกระบวนการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศหลายท่าน รวมทั้งนักวิชาการชาวไทยที่ศึกษาเรื่องสังคมมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลากหลายแขนง เช่น มานุษยวิทยา อิสลามศึกษา ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ประเด็นที่สำคัญจากการสัมมนาสามารถสรุปได้ดังนี้


สัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง Female Agency and Islamic Activism: Thai Case Studies in Localizing the Global


บทบาทของผู้หญิงในขบวนการอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ศาสตราจารย์ Eva Nisa จากหลักสูตร Religious Studies ของ มหาวิทยาลัย School of Social and Cultural Studies, Victoria University of Wellington กล่าวในการบรรยายเรื่อง “From Muslim Studies to Muslimah Studies” ว่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมุสลิมต่างมีพลังและบทบาทในเรื่องศาสนาเท่าเทียมกัน เช่น การตีความคัมภีร์อัลกุรอ่านและหะดีษและการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในวงกว้าง แต่การปฏิบัติทางศาสนาของผู้ชายและผู้หญิงอาจมีความแตกต่างกันในบริบทของสังคมที่ปกครองโดยระบบปิตาธิปไตย แม้จะมีรายงานว่าผู้หญิงมุสลิมมีแนวโน้มที่จะเคร่งศาสนามากกว่าผู้ชาย เรามักจะเห็นว่าผู้นำทางศาสนาส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ศาสตราจารย์ Eva กล่าวว่า เมื่อเราใช้กรอบของช่องว่างทางเพศ (gender gap) ในการศึกษาประเด็นของศาสนาอิสลาม เราจะพบว่าผู้หญิงมุสลิมอาจได้รับประสบการณ์ในการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามแตกต่างจากผู้ชายมุสลิมเนื่องจากผู้ชายมุสลิมมีแนวโน้มที่จะครอบงำแแบบแผนประเพณีตามหลักศาสนาอิสลามในทุกระดับมากกว่าผู้หญิงมุสลิม


แม้กระนั้นก็ตาม ผู้หญิงมุสลิมก็มีบทบาทและสิทธิในการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิมที่ยึดถือแนวคิดซาลาฟี (Salafism) ลัทธิซาลาฟี หมายถึง ขบวนการเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่มุ่งหมายที่จะเจริญรอยตามวัตรปฏิบัติทางศาสนาและศีลธรรมของอิสลามสามรุ่นแรก (al-salaf al-salih—บรรพบุรุษผู้ทรงธรรม) เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ ขบวนการซาลาฟีจึงตีความพระคัมภีร์แบบตรงตามตัวอักษรและทำให้มุสลิมสำนักนิกายอื่นๆ ยอมรับว่าอิสลามในแบบของซาลาฟีคือหลักศาสนาดั้งเดิม กลุ่มผู้หญิงมุสลิมที่ยึดถือแนวคิดซาลาฟีจึงเป็นกลุ่มที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด โดยมีภรรยาและกลุ่มสตรีผู้ติดตามของนบีมูฮัมหมัดเป็นแบบอย่าง ในอดีต ผู้หญิงมุสลิมมีบทบาทในการเขียนและตีความคัมภีร์อัลกุรอ่านและฮะดีษ แต่ภายหลังจากที่ท่านนบีมูฮัมหมัดเสียชีวิตแล้ว เรามักจะเห็นแต่ผู้ชายมุสลิมที่ทำหน้าที่ตีความหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม อาจกล่าวได้ว่า คำอธิบายของคัมภีร์อัลกุรอาน (exegesis/tafsir) ได้รับอิทธิพลจากความเข้าใจและมุมมองของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ระบบการปกครองที่ผู้ชายเป็นใหญ่นี้ยังสังเกตได้จากงานเขียนที่สะท้อนแนวคิดอคติและมุมมองแบบเหมารวมเกี่ยวกับผู้หญิงมุสลิม อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Nisa กล่าวว่าความไม่เท่าเทียมกันทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในโลกมุสลิมเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก


ตัวอย่างของงานเขียนที่สะท้อนแนวคิดที่ผู้ชายเป็นใหญ่คืองานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิงที่นับถือลัทธิซาลาฟี โดยบทบาทของผู้หญิงในขบวนการซาลาฟีมักถูกมองข้าม เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมของผู้หญิงที่นับถือลัทธิซาลาฟีเป็นสังคมปิด นักวิจัยที่เป็นผู้ชายไม่สามารถเข้าถึงได้ ส่งผลให้ผลการวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิงเหล่านี้บกพร่องหรือผิดพลาดหรือได้รับอิทธิพลจากการมองผ่านกรอบแนวคิดของผู้ชายเป็นหลัก

ขบวนการสตรีมุสลิม (Islamic Feminism) เริ่มเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ขบวนการนี้บ่งชี้ว่าแนวคิดสังคมผู้ชายเป็นใหญ่บั่นทอนความเท่าเทียมกันทางเพศในการปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 – 1990 เกิดคำถามในแวดวงวิชาการว่าผู้หญิงมุสลิมมีศักยภาพในขบวนการฟื้นฟูอิสลาม (Islamic Revivalist Movement) จริงหรือไม่


นาง Saba Mahmood เป็นผู้นำในเรื่องการศึกษาวิจัยเรื่องบทบาทของผู้หญิงในขบวนการฟื้นฟูอิสลาม เธอกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ Politics of Piety: The Islamic Revival and the Feminist Subject (การเมืองของการเคร่งศาสนา: การฟื้นฟูอิสลามและผู้หญิง) ว่า การมีบทบาท (agency) ไม่ได้มีความหมายเดียวกับการต่อต้านการกดขี่เท่านั้น แต่หมายถึงศักยภาพในการดำเนินการใดๆ ภายใต้สภาวะการเป็นรอง ถึงแม้ว่าเรามักจะเชื่อมโยงคำว่าการอยู่ในโอวาท (docility) กับการยุติบทบาทต่างๆ แต่ Saba Mahmood มองว่าการอยู่ในโอวาทสะท้อนความยืดหยุ่นของบุคคลในการรับฟังคำสั่งสอน พัฒนาทักษะ หรือตักตวงความรู้ การอยู่ในโอวาทจึงไม่ได้หมายถึงความนิ่งเฉยแต่หมายถึงการตรากตรำ ความพยายาม ความดึงดัน และความสำเร็จ


ศาสตราจารย์ Nisa เห็นว่า แนวคิดของ Mahmood สามารถนำมาใช้ศึกษาบทบาทของผู้หญิงที่นับถือลัทธิซาลาฟีได้เป็นอย่างดี เนื่องจากความหมายของ “การมีบทบาท” ตามความคิดของ Mahmood สะท้อนว่าผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะมีพื้นเพแตกต่างกันเพียงใดก็สามารถมีส่วนร่วมในขบวนการฟื้นฟูอิสลามได้ การศึกษาชีวิตประจำวันของผู้หญิงที่นับถือลัทธิซาลาฟีจึงเป็นการศึกษาการปฏิบัติตนตามหลัก ซาลาฟีอย่างเคร่งครัดนั่นเอง


ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่นับถือลัทธิซาลาฟีคือกิจกรรมความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ในโลกออนไลน์ เช่น ผู้หญิงซาลาฟีในประเทศอินโดนีเซียใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านสื่อสังคม (social media) ในการตีความหลักคำสอนของศาสนาอิสลามและการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม (ดะอฺวะหฺ – การเชิญชวน) ศาสตราจารย์ Nisa กล่าวว่าวิธีการนี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดเรื่องความเสมอภาค (equity) และการเติมเต็มซึ่งกันและกัน (complementarity) ในการตีความหลักศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงซาลาฟียังตั้งบัญชีอินสตาแกรมชื่อ muslimahorid เพื่อเผยแพร่หลักคำสอนตามลัทธิซาลาฟีและเพื่อให้หลักคำสอนของลัทธิซาลาฟีเป็นอิสระจากการตีความตามแนวคิดของผู้ชายมุสลิม อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กลุ่ม Niqaab Squad ในอินโดนีเซีย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงมุสลิมมั่นใจที่จะสวมใส่ นิกาบ (Niqab) หรือเครื่องแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมที่ครอบคลุมศีรษะ ใบหน้า และปิดจากศีรษะจนถึงเท้า วิธีการดังกล่าวช่วยลบล้างแนวคิดในแง่ลบเกี่ยวกับผู้หญิงที่ปิดบังใบหน้า และชูแนวคิดเรื่องการเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ดีผ่านเครื่องแต่งกายแทน


งานวิจัยของศาสตราจารย์ Nisa จึงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงมุสลิมทุกคนมีบทบาทในขบวนการอิสลามหลากหลายรูปแบบ การศึกษาบทบาทของผู้หญิงมุสลิมในขบวนการสตรีมุสลิมควรที่จะศึกษาด้านการปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นแง่มุมที่เห็นได้ชัดและวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการศึกษาด้านอื่นๆ การมีบทบาทมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น บทบาทของผู้หญิงจึงสามารถตีความได้หลากหลายและไม่จำเป็นต้องเป็นการต่อต้านระบอบสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่เพียงอย่างเดียว


บทบาทของผู้หญิงในกระบวนการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


อาจารย์ ดร. อัมพร หมาดเด็น อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “กระบวนการสร้างสันติภาพโดยกลุ่มผู้หญิงท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ดร. อัมพรศึกษาว่านโยบายการผสานกลืนวัฒนธรรมในการสร้างชาติของรัฐไทยส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างไร โดยมุ่งศึกษาปฏิกิริยาของคนท้องถิ่นต่ออุตสาหกรรมด้านความมั่นคง (security industry) ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งหมายถึงสงคราม ความรุนแรง และภัยคุกคามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะประสบการณ์ของผู้หญิงมุสลิมในเหตุการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ตลอดระยะเวลา 14 ปี ผลการศึกษาพบว่า การที่รัฐไทยส่งกองกำลังด้านความมั่นคงมาที่สามจังหวัดชายแดนภาตใต้จำนวนมากช่วยผลักดันให้คนท้องถิ่นเข้าร่วมกับขบวนการอิสลามที่นิยมใช้ความรุนแรง อีกทั้งยังทำให้ผู้หญิงมุสลิมต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงมุสลิมมีบทบาทในเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้ด้วยการจัดตั้งกลุ่มสตรีเพื่อส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ ดร. อัมพร กล่าวว่า ข้อดีของการเป็นผู้หญิงคือผู้หญิงมักไม่ถูกมองว่าเป็นเป้าโจมตีโดยผู้ก่อความไม่สงบและมักไม่ถูกภาครัฐสงสัย ผู้หญิงจึงสามารถแสดงบทบาทและเสนอความคิดเรื่องความมั่นคงในหลายรูปแบบได้แก่ 1) ความคิดเรื่องความมั่นคงในกรอบของอุดมการณ์ซาลาฟี และ 2) ความคิดเรื่องความมั่นคงตามบรรทัดฐานโลกและนโนบายรัฐ


ความคิดเรื่องความมั่นคงในกรอบของอุดมการณ์ซาลาฟีจะใช้หลักของตัรบียะฮ์ (tarbiyah) ซึ่งหมายถึงการสอนและเผยแพร่หลักศาสนาอิสลาม หลักซุฮร์ (sulh) ซึ่งหมายถึงสันติในตนเอง และ หลักซอบร์ (subr) ซึ่งหมายถึงความอดทนเพื่อเอาชนะการต่อสู้อันยิ่งใหญ่เพื่อเข้าถึงความสงบภายใน ส่วนความคิดเรื่องความมั่นคงตามบรรทัดฐานโลกและนโนบายรัฐ คือการโยงเรื่องความมั่นคงเข้ากับบรรทัดฐานระดับโลกเรื่องเพศ การปรับใช้แนวทางเรื่องสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing Declaration and Platform for Action) นอกจากนี้ กลุ่มผู้หญิงมุสลิมยังเน้นการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการยับยั้งสงครามและการสร้างสันติภาพ


กลุ่มผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายส่งเสริมสันติภาพ การจัดตั้งพื้นที่ความปลอดภัย และการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในโต๊ะเจรจาเพื่อยุติความไม่สงบ เช่น สตรีสานสัมพันธ์สู่สันติสุข สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดร. อัมพรกล่าวว่า ประเด็นเรื่องบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพยังไม่ได้รับการพิจารณาโดยภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม และสะท้อนว่าบรรทัดฐานทางสังคมและแผนปฏิบัติการของรัฐยังไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง


งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีพื้นที่สาธารณะที่จะแสดงความคิดเห็นและให้คำนิยามใหม่ในเรื่องสันติภาพและความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การมีส่วนร่วมของผู้หญิงผ่านองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ได้ก่อให้เกิดนโยบายต่างๆ ที่มุ่งสู่การสร้างสันติภาพ รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งนับว่าเป็นการท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมเดิมในเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ



บทบาท สิทธิและพลังของผู้หญิงในสังคมมลายูมุสลิมในประเทศไทย


อาจารย์ ดร.ทวีลักษณ์ พลราชม ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของผู้หญิงมุสลิมในขบวนการอิสลามผ่านการศึกษาและการแต่งกายด้วยฮิญาบในงานวิจัยเรื่อง “Ready to be Visible: Wearing Hijab of Muslim Women in Three Southern Provinces of Thailand” ดร. ทวีลักษณ์ศึกษาผู้หญิงมุสลิม 3 รุ่นที่ไปศึกษาในต่างประเทศแล้วกลับมาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อทำความเข้าใจว่าการใส่ฮิญาบของกลุ่มผู้หญิงมุสลิมเหล่านี้มีส่วนช่วยสร้างอัตลักษณ์ของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่อย่างไร และปัจจัยใดที่ส่งผลให้ผู้หญิงมุสลิมสวมใส่ฮิญาบอย่างจริงจัง ผลการศึกษาพบว่า การใส่ฮิญาบของผู้หญิงมุสลิมมีความหมายเชิงอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่น โดยในปีคริสต์ทศวรรษที่ 1960 กลุ่มสตรีมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่จังหวัดนราธิวาสไม่ได้สวมใส่ฮิญาบเนื่องจากการสวมใส่ฮิญาบในช่วงนั้นถูกมองว่าเป็นพวกไร้การศึกษาและล้าหลัง ในปีคริสต์ทศวรรษที่ 1970 กลุ่มสตรีมุสลิมที่ไปศึกษาที่ประเทศอียิปต์ได้กลับมาสอนที่โรงเรียนสอนศาสนาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสั่งสอนให้นักเรียนผู้หญิงทุกคนปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามและสวมใส่ฮิญาบ ฮิญาบในช่วงเวลาดังกล่าวจึงสะท้อนบทบาทของผู้หญิงในขบวนการฟื้นฟูอิสลามที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นเนื่องจากการใส่ฮิญาบเป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสตรีมุสลิมกับพระเจ้า ในปีคริสต์ทศวรรษที่ 1990 กลุ่มสตรีมุสลิมที่ไปศึกษาที่ประเทศปากีสถานได้กลับมาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และใส่ฮิญาบเป็นปกติ การใส่ฮิญาบในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ของผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างชัดเจน


การสวมใส่ฮิญาบในแต่ละช่วงสมัยมีความแตกต่างกัน บทบาทของสตรีมุสลิมในแต่ละยุคจึงมีความหมายแตกต่างกันด้วย ดร. ทวีลักษณ์ค้นพบว่าสตรีมุสลิมเลือกที่จะสวมใส่ฮิญาบด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การใส่ฮิญาบเป็นเครื่องหมายแสดงออกถึงความเป็นผู้ใหญ่ ความรู้สึกจำเป็นที่จะต้องสวมใส่ฮิญาบในเขตชุมชนมุสลิม และการปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม การสวมใส่ฮิญาบจึงเป็นการทำให้พื้นที่ส่วนตัวกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงบทบาทและสิทธิสตรีมุสลิมในการขับเคลื่อนขบวนการอิสลาม


อาจารย์อสมา มังกรชัย จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวถึงบทบาทของสตรีมุสลิมในขบวนการอิสลามผ่านการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน ในงานวิจัยเรื่อง “Submissive Agency: Be Muslim Woman whom Allah Loves” อาจารย์อสมาศึกษาบทบาทของผู้หญิงมุสลิมที่สั่งสอนหลักศาสนาอิสลามผ่านการบรรยายสาธารณะในหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดปัตตานี รวมทั้งศึกษากระบวนการเรียนรู้ศาสนาอิสลามผ่าน “ฮาลาเกาะฺฮ” หรือกลุ่มศึกษาที่เมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ผลการศึกษาพบว่า เนื้อหาคำสอนของศาสนาอิสลามอยู่ภายใต้แนวคิดหลักเรื่อง Solihah ซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่พระอัลเลาะห์รัก คำสอนดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงมุสลิมเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึก และการปฏิบัติตนเพื่อพัฒนาคุณสมบัติของการเป็นผู้หญิงมุสลิมที่ดี แนวคิดดังกล่าวจึงสะท้อนบทบาทของผู้หญิงผ่านการเชื่อฟังคำสอนศาสนาและการอ่อนน้อมตามแบบอย่างภรรยาที่ดี


การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของสตรีมุสลิมในการขับเคลื่อนและเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอิสลามในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางอันนุ่มนวลของผู้หญิงในการบรรเทาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพ การสวมใส่ฮิญาบที่สะท้อนอัตลักษณ์ บทบาทและสิทธิสตรีมุสลิมตามหลักคำสอนของอิสลาม และการเชื่อฟังคำสั่งสอนของสตรีมุสลิมผ่านการบรรยายและโรงเรียนสอนศาสนา รูปแบบของการมีส่วนร่วมหลากหลายรูปแบบบ่งชี้ว่าขบวนการอิสลามประกอบด้วยหลักคิด แนวทางและความหมายที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบททางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การศึกษาวัฒนธรรมและสังคมของประเทศที่มีการขับเคลื่อนขบวนการอิสลามอยู่จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งสำหรับนักวิจัยและนักศึกษาทุกคนที่สนใจขบวนการอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย



สรุปและเรียบเรียงโดย นางสาวโศภนิศ อังศุสิงห์ นักวิจัย

Comments


bottom of page