เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติและ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
3-4 วันที่ผ่านมา ผมพาดุษฎีบัณฑิตรัฐประศาสนศาสตร์จาก ม.รังสิตไปศึกษาทางภูมิ-ประวัติศาสตร์ที่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ ที่จริงผมเคยไปพม่ามาเกินสิบครั้งแล้ว คือ ไปนครย่างกุ้ง ไปชื่นชมดินดอนสามเหลี่ยมปากน้ำอิระวดี ไปเที่ยววัดเมืองพุกาม มัณฑะเลย์ ซอกซอนไปเที่ยวเชียงตุง และตองจี ในรัฐฉาน(ไทใหญ่) แต่ครั้งนี้ตั้งใจจะไปสัมผัสรัฐกะเหรี่ยงและมอญ โดยเฉพาะอยากไปดูแม่น้ำสาละวินที่ไหลลงทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่ง
ทริปนี้เราตีรถจากแม่สอด จ.ตาก โดยมีบริษัทเอเชียวันแทรเวิลแอนด์ทัวร์นำ ข้ามพรมแดน พบเมียววดีก่อน นี่คือเมืองค้าเมืองขายของรัฐกะเหรี่ยง ครับ จากนั้นก็ถึง พะอัน เมืองหลวงเล็กๆ ของรัฐ เล็กกว่าเมียววดี และต่อไปถึงมะละแหม่งเมืองหลวงของรัฐมอญ เมืองใหญ่ ประชากรสี่แสนกว่าคน เราใช้เวลานั่งรถรวมสี่ชั่วโมง ระยะทาง 150 กม โดยประมาณ หนทางพอใช้ได้ เป็นหลุมเป็นบ่อบ้าง
ไม่เคยคิดเลยครับว่าในชีวิตจะได้มาเห็นเมืองพะอัน และ เมืองมะละแหม่ง ที่ตื่นเต้นกับกะเหรี่ยง เพราะเคยเห็นชาวกะเหรี่ยงมากมายตามชายแดนไทย-พม่า โดยไม่มีบ้านเมืองของตนเอง แต่ในคราวนี้เราดั้นด้นไปถึงรัฐและเมืองหลวงของกะเหรี่ยงเอาจนได้ ส่วนมอญนั้นเล่า ก็สำคัญมาก เพราะเป็นเจ้าของภาคเหนือและภาคกลางของไทยเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว ครั้งนี้จะฝ่าไปให้เห็นรัฐและเห็นเมืองหลวงของชาวมอญในประเทศพม่าเสียที
เราเริ่มเห็นแม่น้ำสาละวิน ก็ตรงที่ไหลผ่านเมืองพะอัน มหึมา น่าเกรงขาม สมกับที่ไหลมาจากทิเบต เคยเห็นสาละวินเป็นเส้นกั้นแดนไทย-พม่า ร้อยกว่ากิโลเมตร ที่แม่สะเรียง ช่วงนั้นยังเป็นสายน้ำไม่ใหญ่แต่เชี่ยว ความเข้าใจเดิมของผมสาละวินนั้นคือ “แม่น้ำของชาวไต” ที่อยู่ในรัฐฉาน (คำว่าฉาน หรือ Shan นั้น ที่จริง แล้วเป็นคำเดียวกับสยาม) แต่ที่จริงแล้วแม่น้ำที่ยาวราว 3,000 กิโลเมตรนี้ ผ่านรัฐกะยาห์ รัฐกะเหรี่ยง และ รัฐมอญ ด้วย ไหลผ่านมะละแหม่งและลงทะเลแถบนั้นนั่นเอง เห็นความใหญ่โตของแม่น้ำที่ผ่านมะละแหม่ง ซึ่งกว้างใหญ่และสง่างามยิ่งกว่าที่พะอันอีกและเห็นปากน้ำที่ไพศาลแม้จะไม่แตกแขนงอลังการเท่าปากแม่น้ำอิระวดี ในใจพลันคิดว่าสาละวินนั้นน่าจะเป็น “แม่น้ำของมอญ” มากกว่า
น่าพิศวงครับพม่านั้นมีแม่น้ำใหญ่จากหิมาลัยสองเส้น คือแม่น้ำอิระวดีและสาละวิน โดยอิระวดีนั้นเป็นแม่น้ำของชาวพม่า คือ ไหลผ่านมณฑลต่างๆ ของพม่าแท้ๆ ในขณะที่แม่น้ำสาละวินนั้นกลับไม่ผ่านพม่าแท้ๆ เลย หากไหลผ่านรัฐต่างๆ ของชนส่วนน้อย เท่านั้น โปรดทราบ: พม่าเป็นสหภาพ ประกอบด้วยพม่า ซึ่งประกอบด้วย 7 มณฑล หรือ Divisions กับพม่าที่เป็นชนชาติส่วนน้อย อันประกอบด้วย 7 รัฐ หรือ States ครับ
ที่มะละแหม่งนี้ หากข้ามสาละวินไปก็เป็นเมืองเมาะตะมะเลย ในอดีตเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญ มะกะโท พ่อเป็นไตหรือไท แม่เป็นมอญ เป็นปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรมอญมะกะโทผู้นี้รับราชการอยู่ที่สุโขทัยมาก่อน และเป็นลูกเขยของพระร่วงรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัยด้วย เมืองเมาะตะมะนี้นอกจากมะกะโทแล้วต่อมายังมีกษัตริย์ท่ียิ่งใหญ่มาก ที่พม่าเองระย่อ อีกพระองค์หนึ่ง คนไทยเราคุ้นเคย คือพระเจ้าราชาธิราช ไงครับ
จากเมาะตะมะหันหน้าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ก็จะเป็นทิศที่พาเราไปสู่พะโค (หงสาวดี) และย่างกุ้ง เมืองเหล่านี้ รวมทั้งเมาะตะมะ และ มะละแหม่งอยู่ใกล้หรืออยู่ในอ่าวเมาะตะมะที่เราเรียนมาในวิชาภูมิศาสตร์ทั้งสิ้นครับ ยิ่งกว่านั้น เดิมทีดินแดนพม่าตอนใต้ที่ติดทะเลทั้งหมด นับตั้งแต่ปากน้ำอิระวดี บริเวณย่างกุ้ง พะโค-หงสาวดี เมืองสะเทิม (Thaton) เมืองเมาะตะมะ เมืองมะละแหม่ง เรื่อย ลงไปถึงแถบตะนาวศรี ไปจนถึงใต้สุดของพม่าในทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองมอญมาก่อนครับ
กล่าวได้ว่าดินแดนพม่าที่ติดกับภาคกลางและภาคใต้ของไทยนั้น ในอดีตเป็นดินแดนมอญเป็นสำคัญ มอญจึงเป็นกันชนกั้นไทยกับพม่า และก็ด้วยเหตุนี้เองมอญจึงอพยพหนีพม่าเข้าสู่แผ่นดินสยามอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ รัฐมอญที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเหลือเล็กนิดเดียวครับ แถบปากแม่น้ำอิระวดีนั้นกลายเป็นมณฑลหนึ่งของพม่า เช่นเดียวกับ ย่างกุ้ง เช่นเดียวกับ พะโค-หงสาวดี และ เช่นเดียวกับ มะริด ทวาย ตะนาวศรี ซึ่งรวมกันเป็นมณฑลตะนาวศรี
กลับจากทริปนี้ ผมกับคณะตระหนักขึ้นอีกว่าไทยนั้นใกล้ชิดกับทะเลอันดามันมากกว่าที่คิดกันนะครับ ทะเลอันดามันนั้นอยู่สูงมาก สูงกว่าระดับอ่าวไทยมาก อ่าวไทยนั้นขึ้นถึงเพียงภาคกลาง ติดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น แต่อันดามันนั้นขึ้นสูงกว่าอีก คือสูงในระดับเส้นรุ้งเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับที่เส้นรุ้งที่ผ่าน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอนในตอนใต้ หรือ กับตอนเหนือของ จ.ตาก เพียงแต่มีแผ่นดินพม่าแคบๆ มากั้นเอาไว้ ดูแผนที่สิครับจะเห็นชัด เพียงเราข้ามชายแดนไทย-พม่า มาทางตะวันตกระยะทางไม่เกิน 150 กิโลเมตร จะพบทะเลอันดามันทันที ภาคเหนือของไทยทางตะวันตกนั้น รับลมรับฝนจากทะเลอันดามัน น่าจะไม่ต่างนักกับ ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล ซึ่งติดกับทะเลอันดามัน
และด้วยเหตุนี้เช่นกัน ครับ ในอดีตนั้นภาคเหนือของไทย ไม่ว่าอาณาจักรสุโขทัย หรือ อาณาจักรล้านนา ล้วนอยู่ไม่ห่างทะเลนะครับ เพียงไม่ได้ติดทะเล คนแถบนี้ในอดีตลงทะเลบ่อยครับ พระสงฆ์ของสุโขทัยและล้านนาไปลังกาก็ลงอ่าวเมาะตะมะหรือลงที่หงสาวดีนั่นเอง ทางลงทะเลของสยามหรือไทยในอดีตจึงไม่ได้มีแต่อ่าวไทยครับ เราข้ามไปลงอันดามันของมอญและพม่าอยู่ไม่น้อย แม่สอดแม้จะอยู่ใน จ ตาก แต่คนส่วนใหญ่พูดภาษาไทยล้านนา เจ้าน้อยสุขเกษม แห่งเชียงใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ห้า ก็เสด็จไปเรียนหนังสือที่มะละแหม่ง เมืองมอญสมัยที่ มะกะโท สถาปนาตนเป็นพระเจ้าฟ้ารั่วก็มาสวามิภักดิ์กับสุโขทัยครับ
ในปัจจุบันนี้เราน่าจะข้ามแม่สอดผ่านรัฐกะเหรี่ยงไปสัมพันธ์กับเมืองย่างกุ้ง เมืองพะโค อ่าวเมาะตะมะ เมืองมะละแหม่ง ซึ่งเวลานี้ใหญ่เป็นอันดับสี่ในพม่า รองจากย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ข้ามไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเมืองที่เคยเป็นทางลงทะเลของภาคเหนือของไทย ใช้วัฒนธรรม ใช้ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นธงนำ ชายแดนนั้นเคยกั้นเคยขวางเราจากกันในยุคอาณานิคมและยุคสงครามเย็น แต่ในยุคปัจจุบันนั้นเราและเขาต้องข้ามชายแดนไปมาหาสู่ ค้าขาย ลงทุน ร่วมกัน รุ่งเรืองไปด้วยกัน กระทรวงมหาดไทยก็ดี สภาความมั่นคงก็ดี กระทรวงต่างประเทศก็ดี น่าจะทุ่มเทให้บรรดาเมืองชายแดนอย่างเต็มที่
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ – Anek Laothamatas
Comments