top of page
klangpanyath

ส่อง VISION 2030 เพื่อพลิกธุรกิจไทยและอุตสาหกรรมโลก


“CEO ยุค 2030 ไม่ควรคิดแต่เรื่องกำไร-ขาดทุน เพราะเราเป็นผู้นำสังคม ธุรกิจก็ต้องทำให้ดีแต่เรื่องสังคมเราก็ต้องดูแล เพราะถ้าสังคมไม่ดีธุรกิจก็อยู่ไม่ได้”

สภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Intelligence Council – NIC) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกอย่าง Roland Berger และ The Business and Sustainable Development Commission ฯลฯ ได้จัดทำรายงานประเมินสถานการณ์โลกที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายใน ค.ศ. 2030 หลังจากบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิถีการผลิตและการบริโภคของประชากรโลก ขณะที่สถานการณ์ด้านประชากรศาสตร์และทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจะส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก โดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ร่วมหาทางออกประเทศไทยในหัวข้อ “ส่อง Vision 2030 เพื่อพลิกธุรกิจไทยและอุตสาหกรรมโลก” จัดโดยมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (SHARE) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



อย่าเชื่อ! ถ้าใครบอกว่าประเทศไทยล้าหลัง


ในอดีตถนนหนทางประเทศไทยมีแต่ถนนลูกรังทั้งนั้นเดินทางไปไหนต้องใช้รถไฟ ยังใช้ส้วมหลุมไม่มีส้วมซึม แต่ละจังหวัดมีโรงเรียนที่สอนถึงระดับมัธยมปลายเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นไม่มีมหาวิทยาลัย ผมเคยเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ช่วงนั้นเวลาที่เราเดินขบวนมีคนมามุงดู พวกเขารู้สึกว่าเราเป็นปัญญาชนชั้นสูงเพราะเรียนหนังสือถึงปีระดับปริญญาตรี ชาวบ้านมองว่าเราเป็นผู้นำเพราะคนไทยส่วนใหญ่เรียนแค่ชั้น ป. 4 หรือ ป. 7 เป็นอย่างมาก แต่วันนี้การศึกษาของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าขึ้นเยอะ คนทั่วโลกไม่รู้จักประเทศไทยรู้จักแต่ Siam ไม่มีคำว่า Thailand อยู่ในพจนานุกรมของสหรัฐฯ ไทยเคยเป็นประเทศยากจนแต่ทุกวันนี้เรายกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยวติดอันดับ 1 ใน 4 ของโลก เมื่อเร็วๆ นี้นิตยสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการเดินทางของสหรัฐฯ จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวและยังระบุว่าคนไทยเป็นคนที่ดีที่สุดในโลก (The Best People of the World) เห็นได้ชัดว่าเรากำลังมองตัวเองไม่เหมือนกับที่ต่างชาติมองเรา เรามักมองประเทศตัวเองแต่ด้านมืดและติดนิสัยวิพากษ์กันเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากประเทศหนึ่งในโลก บางท่านอาจไม่คุ้นหูกับความคิดแบบนี้ แต่จะมีประเทศไหนบ้างที่ไม่มีสงครามติดต่อกันมานานถึง 200 ปีซึ่งเราโชคดีมาก ส่วนปี 2030 ประเทศไทยจะมีอนาคตอย่างไรขึ้นอยู่กับวิธีการมองปัญหา (Approach) ซึ่งบรรดา CEO ไม่ควรมองแต่เรื่องลบอย่างเดียวเพราะจะทำให้เราท้อใจ เราต้องรู้จักมองไปที่โอกาสไม่ใช่มองแต่ปัญหา คนที่มองแต่ปัญหาจะเป็นผู้นำไม่ได้ ถ้ามองโอกาสดีๆ จะพบว่าประเทศไทยมีอยู่ข้อได้เปรียบหลายประการ


“คน” คือจุดแข็งของประเทศไทย


คนไทยเป็นคนที่วิเศษ ทั่วโลกมองว่าคนไทยมีน้ำใจไม่รังเกียจคนต่างชาติ เราไม่มองคนที่อยู่ในประเทศไทยเป็นคนอื่น ไม่มองว่าแขกของเราต่างจากเรา ไม่ว่าหน้าตาจะออกไปทางเชื้อสายใดเราก็ถือว่าเป็นไทยด้วยกัน บางคนเป็นลูกจีนไม่มีเชื้อไทยแต่เขาบอกว่าเป็นไทย เรียนหนังสือไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารับราชการไทย ทุกคนจะบอกว่าเขาเป็นไทยโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ทางสายเลือดใดๆ ต่างจากที่สหรัฐอเมริกา หากสืบได้ว่าบรรพบุรุษเพียงรุ่นหนึ่งเป็นคนดำก็จะถูกนิยามว่าเป็นคนดำกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 หรือ 3 ไป ขณะที่ไทยทั้งข้าราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงเต็มไปด้วยผู้คนเชื้อสายที่หลากหลาย ประเทศไทยเปิดโอกาสให้กับคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ นี่คือจุดแข็งที่สำคัญ การทำธุรกิจใดๆ ที่เกี่ยวกับคนเราจะทำได้ดีโดยเฉพาะด้านสันถวไมตรี การท่องเที่ยว การบริการสุขอนามัย การดูแลคน ความบันเทิงรื่นเริง หรืออะไรที่เรียกว่า “หลั่นล้า” คนไทยเก่งทั้งหมด


ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของคนไทยที่จะอยู่รอดได้ในปี 2030 คือ คนไทยสามารถอยู่ได้กับสภาวะที่ระบบล้มเหลว ตรงกันข้ามกับฝรั่งหรือคนญี่ปุ่นที่จะอยู่ได้ยากเมื่อระบบล้มเหลว เช่น สมมติว่าสัญญาณไฟจราจรเสียทั้ง 4 ด้าน คนญี่ปุ่น คนเยอรมัน จะหยุดทันทีเดินทางต่อไม่ได้ เพราะมี Caution เรื่องความปลอดภัย แต่คนไทยสามารถกระดื้บๆ ไปจนได้ในที่สุด นอกจากนี้ คนไทยเป็นคนที่มีความสุขง่าย ทุกข์ยากแต่ไม่ใช่ว่าไม่ทุกข์เลยเพราะเราไม่ค่อยโศกเศร้ากับอะไรนาน ศาสนาพุทธช่วยหล่อหลอมจิตใจให้เป็นคนปล่อยวาง อิจฉาใครก็อิจฉาได้ไม่นาน คนไทยเป็นคนที่จิตใจแข็งแกร่ง สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนจีนหรือญี่ปุ่นที่มีสถิติสูงกว่าเพราะจริงจังกับชีวิตมาก ดังนั้นปี 2030 การที่เราจะอยู่รอดได้ต้องดึงจุดแข็งมาทำเป็นธุรกิจที่เกี่ยวคุณลักษณะพิเศษของคนไทยดังกล่าวข้างต้น



แผ่นดินไทย แผ่นดินทอง


สภาพภูมิศาสตร์ก็เป็นจุดแข็งอีกประการของประเทศไทย เรามีชายทะเลยาวเป็นอันดับที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากเวียดนาม แม้เวียดนามจะมีชายฝั่งที่ยาวกว่าไทยแต่เวียดนามมีทะเลด้านเดียวคือทะเลจีนใต้ ส่วนไทยนั้นขนาบด้วยสองมหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีถึงสองมหาสมุทร หากพูดเรื่องนี้เมื่อ 200 ปีที่แล้วก็คงไม่สำคัญเพราะตอนนั้นมหาสมุทรที่สำคัญที่สุดของโลกคือมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ปัจจุบันมหาสมุทรที่สำคัญที่สุดในโลกคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นทะเลจีน ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอยู่ใกล้กับช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลก ณ เวลานี้ เพราะการขนส่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าต่างๆ ผ่านช่องแคบมะละกามีมูลค่าสูงกว่าคลองสุเอซหรือคลองปานามาราว 2-3 เท่า


ไทยอยู่ใกล้ทั้งกับจีนและอินเดียซึ่งเป็นพลวัตรใหม่หรือ Dynamism ของเศรษฐกิจโลกที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ตะวันตกอีกต่อไป ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนใครจะเดินทางไปไหนก็ต้องผ่านไทย พม่าจะไปสิงคโปร์ต้องผ่านไทย กัมพูชาจะไปสิงคโปร์ทางบกก็ต้องผ่านไทย จีนจะไปมาเลเซียก็ต้องผ่านไทยเช่นกัน จีนต้องการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปสิงคโปร์และต่อไปถึงเกาะสุมาตรา ข้ามไปยังเกาะชวาที่มีประชากรกว่า 120 ล้านคนซึ่งมากกว่าญี่ปุ่นทั้งประเทศ ในปี 2030 เราคงเริ่มเห็นทางรถรถไฟนี้แล้ว ไทยจึงเป็นจุดเชื่อมระหว่างอาเซียน จีน และอินเดีย ขณะนี้จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก คาดว่าภายใน 5-7 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจจีนจะโตกว่าสหรัฐฯ และก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก และภายในปี 2030 อินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขณะนี้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียกำลังสร้างทางรถไฟมาที่พม่า หากจะเชื่อมต่อไปจีนหรือสิงคโปร์ก็จะต้องผ่านไทย จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของการขนส่งครั้งใหญ่ คนต่างชาติจะมาใช้บริการประเทศไทยเยอะขึ้น เราจะเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวของโลก


ด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้นป่าไม่ของไทยอุดมสมบูรณ์มาก ป่าบริเวณชายแดนพม่าตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เป็นป่าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพไม่น้อยกว่าป่าอะเมซอน ที่เห็นได้ชัดคือมีเสือโคร่งและช้างเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นยอดสูงสุดของพีระมิดห่วงโซ่อาหาร ขณะที่ป่าชายเลนที่ชุมพร ระนอง หรือจันทบุรีเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ระดับโลกเช่นกัน ความสมบูรณ์ของป่าทั้งสองประเภทนี้เป็นความสำเร็จจากราชประศาสนศาสตร์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงปลูกป่าและดูแลป่าชายเลนจนอุดมสมบูรณ์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ต้องใช้ประโยชน์ตรงนี้ให้มากขึ้น จากนี้ไปจนถึงปี 2030 การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าทำทั้งสิ้น


หากจะให้ดีเราต้องวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เดิมเราทำเพื่อภายในประเทศเท่านั้นแต่ต่อไปเราต้องเชื่อมโยงเส้นทางเข้ากับอาเซียนและจีน สิ่งที่น่าตกใจคือขณะนี้ราคาที่ดินในประเทศไทยสูงขึ้น ทุกภาคของประเทศคือแผ่นดินทอง ภาคอีสานจะเชื่อมโยงเข้ากับลาว เวียดนาม และจีน ภาคเหนือเชื่อมเข้ากับพม่า ลาว และจีน ภาคอีสานตอนใต้เชื่อมโยงเข้ากับกัมพูชาและลาว ภาคใต้เชื่อมโยงเข้ากับสองมหาสมุทร มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ด้านภูมิศาสตร์เราสามารถต่อยอดไปได้อีกไกลมาก เช่น การขุดคอคอดกระ ยกตัวอย่างคลองของจีนที่เป็น Grand Canal เชื่อมระหว่างแม่น้ำแยงซีกับแม่น้ำเหลืองเป็นคลองขุดยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ขณะที่คลองขุดที่ยาวที่สุดของไทยมีเพียงคลองแสนแสบที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเท่านั้น เราไม่ค่อยกล้าคิดเรื่องคอคอดกระเพราะเราถูกฝึกให้กลัว แต่คนไทยในอดีตไม่ได้คิดเช่นนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคยคิดจะขุดคอคอดกระเมื่อ 300 ปีที่แล้ว หากท่านมีพระชนม์ชีพต่ออีก 20 พรรษาคอคอดกระคงขุดเสร็จแล้ว


มาถึงยุคนี้เราเข้าใจว่าเราเก่งกว่าคนโบราณซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด คนโบราณไม่จำเป็นต้องล้าหลังกว่าเราเสมอไป ถ้าศึกษาจะพบว่าในอดีตสยามเป็นประเทศทางทะเลไม่ใช่ประเทศทางบกอย่างเดียว เรารับวิทยาการความรู้ผ่านการค้าทางทะเลกับอินเดียและเปอร์เซียมาสร้างความรุ่งเรืองให้อยุธยา เราติดต่อกับฝรั่งและมุสลิมได้ก่อนใครในเอเชียอาคเนย์ มีเมืองหลวงติดทะเลมา 600 กว่าปี อยุธยาอยู่ใกล้ทะเลมา 400 กว่าปีเราไม่เคยย้ายเมืองหลวง พออยุธยาแตกแทนที่เราจะย้ายหนีขึ้นไปบนแผ่นดินใหญ่ แต่เรากลับย้ายลงมาใกล้ทะเลจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราอยู่ใกล้ทะเลมาตลอด


เดิมทีเราเป็นชาติที่ทันโลก ศาสนาของเราไม่ได้อยู่แค่การนับถือผีแต่เรารับศาสนาพุทธและพราหมณ์ และช่วงหลังเรารับอิสลามและคริสต์เข้ามาด้วย ในด้านเศรษฐกิจเราไม่ได้ทำนาอย่างเดียวแต่เราค้าขายกับจีนมา 600-700 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นทะเลคือประตูของเรา แต่ทุกวันนี้พอบอกให้ไปทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวกับทะเลเราจะมีแต่ความหวาดกลัวว่าจะเสียนั่นเสียนี่ เราใช้ทะเลเพียงแค่ชายหาดเท่านั้นซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง กล่าวโดยสรุปแล้วประเทศไทยมีอนาคตมากใครมาบอกว่าประเทศไทยไร้อนาคตอย่าไปเชื่อ!



ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “หลั่นล้าอีโคโนมี”


คนไทยเป็นคนที่สมัยก่อนเราเรียกว่า “คนไม่ได้เรื่อง” รักสวยรักงาม ชอบเที่ยว งานหนักไม่เอา แต่สังเกตได้ว่าคนไทยนั้นไม่ธรรมดาที่บอกว่างานหนักไม่เอาแต่หากเป็นงานที่ชอบก็สามารถทำได้ถึงดึกดื่น เช่น ร้านอาหารในกรุงเทพฯ เปิดขาย 24 ชั่วโมง เราจะว่าเขาขี้เกียจได้อย่างไร หลายประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์พอค่ำแล้วเงียบเหงาจะออกไปหาอะไรทานก็ไม่ได้ ตรงกันข้ามกับที่กรุงเทพฯ อยากทานอะไรมีขาย 24 ชั่วโมงเป็นเมืองที่ไม่หลับใหล แสดงว่าที่จริงแล้วคนไทยขยันแต่ที่ขี้เกียจก็เพราะว่าเป็นงานที่เขาไม่ชอบ ผมจึงบัญญัติศัพท์ขึ้นมาหนึ่งคำคือ “หลั่นล้าอีโคโนมี” หมายถึงการสร้างเศรษฐกิจบนจุดแข็งของคนไทย โดยธุรกิจที่คนไทยทำได้ดีมักจะมีรากฐานมาจากอุปนิสัยและวัฒนธรรมของคนไทยที่ชอบเที่ยว สนุกสนาน และความเป็นกันเอง เช่น ธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ฯลฯ


ประเทศไทยทำหลั่นล้าอีโคโนมีดีที่สุดเพราะเรามีความถนัดและต่างชาติจะแข่งกับเรายาก หากเราไปเน้นเทคโนโลยี 4.0 ซึ่งทั้งโลกสามารถชนะเราได้หมดเพราะเราตามเขาไม่ทัน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้ง 4.0 เราต้องตามให้เข้าใจและเอาดอกผลของ 4.0 มาประยุกต์ใช้กับหลั่นล้าอีโคโนมีของเรา ธุรกิจโรงพยาบาลของไทยไปได้ดีมาก การศึกษาของไทยก็ไม่เลว มหาวิทยาลัยของไทยมีชาวต่างชาติมาเรียนก็ไม่น้อย ธุรกิจเกี่ยวกับความงามเราก็ไปได้ดีเพราะเราสวยเสมอ ในโลกนี้ไม่มีผู้หญิงที่ไหนที่แต่งตัวดีกว่าผู้หญิงไทย เรื่องเครื่องแต่งกายก็เช่นกันใช้เวลานานมากกว่าจะออกจากบ้านได้ บางคนใช้เวลา 10 นาที บางคนใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่งตัวเนี๊ยบ แฟชั่น ประดิดประดอย ไปประกวดนางงามที่ไหนเราก็ติดอันดับหมดเพราะเรามีพื้นฐานที่ดี เราจึงต้องพยายามคิดให้มากเกี่ยวกับธุรกิจเหล่านี้


โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปเมื่อการเล่น การเที่ยว การพักผ่อนกลายเป็นธุรกิจอุตสาหกรรม ส่วนการทำงานที่ซ้ำๆ ประดิษฐ์อะไรที่เหมือนๆ กันกลายเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังจะพ้นสมัยแล้ว เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจไทยมักจะให้ความสำคัญเฉพาะภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเป็นหลัก ขณะนี้ภาคเกษตรกรรมสร้างรายได้ให้ประเทศเพียงร้อยละ 8 อุตสาหกรรมร้อยละ 30 และการท่องเที่ยวร้อยละ 20 ซึ่งหากประเทศไทยยังเติบโตด้วยอัตราส่วนนี้มีแนวโน้มว่าภายในปี 2030 การท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 เท่ากัน เมื่อก่อนเราคิดว่าธุรกิจท่องเที่ยวเป็นของหวานทานหลังอาหารจานหลัก แต่วันนี้การท่องเที่ยวกำลังจะเป็นอาหารหลักแล้ว ส่วนภาคการเกษตรก็ยังมีความสำคัญอยู่แต่ถ้าต้องการเพิ่มรายได้เราต้องเปลี่ยนภาคการเกษตรให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ควบคู่ไปด้วย


นอกจากความสนุกสนานแล้ว คุณลักษณะนิสัยของคนไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความกตัญญู คนไทยมีค่านิยมต่อผู้สูงอายุที่ดีกว่าชาวตะวันตกซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับการทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ผมไปช่วยทำโรงเรียนนักบริบาลผู้สูงอายุที่จังหวัดลำปางจัดการอบรมแม่บ้านซึ่งปกติมีอาชีพทำนาอายุระหว่าง 40-50 ปี จำนวน 70 คน ถึงวันนี้ทุกคนมีเงินเดือนละ 15,000-25,000 บาทจากการเป็นนักบริบาลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุกำลังเป็นธุรกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของสังคมไทยมาก เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่คนที่จะดูและผู้สูงอายุลดน้อยลงซึ่งนี่เป็นธุรกิจที่น่าสนใจมาก ในเวลาที่ทั้งโลกกำลังตระหนักกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยเราอย่ามองว่าเป็นปัญหา แต่ต้องมองให้เป็นโอกาสว่าเราจะพัฒนาธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุได้อย่างไร เราจะพาผู้สูงอายุจากทั่วโลกมาดูแลที่ประเทศไทยเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้คนไทย


การที่เราจะเป็นประเทศ 4.0 ได้ต้องเก่งคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี วิศวกรรม ฯลฯ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องที่คนไทยไม่ถนัด จะให้ทำอะไรที่ยากก็จะไม่ถูกกับจริตคนไทย แต่ถ้าให้คนไทยรำ ร้อง แต่งตัว คนไทยเรียนรู้ได้เร็วมากยิ่งสนุกสนานด้วยแล้วถึงไหนถึงกัน เมื่อก่อนเรื่องราวเหล่านี้เป็นของเสียแต่ปัจจุบันโลกหมุนมาที่การท่องเที่ยวและความบันเทิง ดังนั้นอะไรที่ครั้งหนึ่งเคยดูไม่ค่อยดีตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้วความคิดของเราจึงต้องเปลี่ยนตามให้ทัน



CEO ยุค 2030 ควรปรับตัวอย่างไร


ปัจจุบันนี้โลกตะวันออกมีความสำคัญขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอาเซียน เพราะฉะนั้น CEO จะต้องมองไปทางตะวันออกให้มากขึ้น ใช้โอกาสทางเศรษฐกิจอันเกิดจากภูมิศาสตร์ที่ดีของเราให้ได้ เราต้องตื่นตัวที่จะเรียนรู้ รักการเรียนรู้ เพราะคนไทยไม่ค่อยจริงจังในเรื่องความรู้ เรามักคิดว่าความรู้เป็นเพียงใบขับขี่ เรียนหนังสือเพื่อได้ใบขับขี่ แต่จริงๆ แล้วเราต้องใช้ความรู้ให้มากขึ้น เช่น เรื่องอุตสาหกรรมแฟชั่นก็ต้องมีความรู้ ช่างคิด ช่างสังเกต การทำธุรกิจก็เช่นเดียวกัน CEO ต้องเรียนรู้ด้านอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจให้มาก เพราะถ้าท่านมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ด้วย เช่น แฟชั่นของไทยไม่ได้มีเฉพาะแฟชั่นของคนไทยภาคกลางเท่านั้น ยังมีการแต่งกายแบบภาคเหนือ อีสาน หรือภาคใต้ซึ่งแตกต่างกัน บางทีท่านอาจได้แรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมของแต่ละภาคหรือท่านอาจจะไม่หยุดที่ประเทศไทย อาจไปดูของลาว กัมพูชา หรือมาเลเซีย และสร้างอะไรที่เป็นของใหม่ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำ


CEO 2030 ไม่ควรคิดแต่เรื่องกำไรหรือขาดทุน เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นผู้นำสังคมโดยที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราต้องรู้เรื่องสังคมให้มากเราถึงจะมีบทบาทมากขึ้น เรื่องธุรกิจของเราก็ต้องทำให้ดีแต่เรื่องสังคมเราก็ต้องดูแลเช่นกัน เพราะถ้าสังคมไม่ดีธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ ถ้าสังคมเราผลิตคนไทยที่ไม่มีคุณภาพพนักงานของเราก็ไม่มีคุณภาพ เราทำธุรกิจควรสร้างอะไรแบบไทยๆ ขึ้นมา อย่าไปคิดว่าการคิดแบบไทยใช้เวลามากกว่าการเลียนแบบต่างชาติ ดังที่ยกตัวอย่างหลายๆ เรื่องข้างต้นว่าลักษณะนิสัยแบบนี้ของคนไทยจะมีคุณประโยชน์มหาศาล แต่เราจะคิดเช่นนี้ได้ก็เมื่อความรู้ทั่วไปของเราสูงขึ้นไม่เช่นนั้นเราจะสรุปอะไรไม่ได้เลย เราทำมากแต่เป็นการทำซ้ำๆ แต่จะเรียกว่าเป็นประสบการณ์ไม่ได้ เพราะประสบการณ์จะเกิดขึ้นได้จากการทำซ้ำๆ และสร้างข้อสรุปออกมาเป็นหลักคิด ทฤษฎี ข้อเตือนใจ เช่นนี้จึงถือว่าเป็นประสบการณ์จริงๆ อยากจะชวนนักธุรกิจและผู้บริหารทั้งหลายที่มีประสบการณ์พยายามบันทึกไว้เขียนเป็นหนังสือถ่ายทอดบทเรียนออกมาซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องการค้าขายเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการบุคลากรด้วยซึ่งจะเป็นอะไรที่มีคุณค่าต่อประเทศไทยมาก



สรุปและเรียบเรียง: กอปร์ธรรม นีละไพจิตร ผู้ช่วยนักวิจัย

ภาพปก: ฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม ผู้ช่วยนักวิจัย


Comments


bottom of page