ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
กันยายน 2561
"เศรษฐศาสตร์แบบของอาจารย์ณรงค์ เป็นเศรษฐศาสตร์ที่ค่อยๆ ปรับ คือ ทุนนิยมมันก็ใช้ได้ แต่ก็ต้องเอาภาคที่ไม่ใช่ทุนนิยมมารวมอยู่ด้วย เราสามารถมีบริษัทและธุรกิจขนาดใหญ่ได้ แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจชุมชนก็ต้องอยู่ได้ ต้องมีธุรกิจใหญ่ของรายย่อยไปสู้ เช่น สหกรณ์ เศรษฐศาสตร์มันต้องคิดได้หลายแบบ แต่ตอนนี้เรากำลังคิดได้แบบเดียว เช่น เรื่องการค้าปลีก ก็มีแต่เซเว่น เศรษฐศาสตร์มันควรเป็นการขับเคี่ยวของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มโชห่วย กลุ่มร้านขนาดเล็ก ส่วนร้านกาแฟก็มีแต่สตาร์บัค อเมซ่อน เราควรมีร้านกาแฟขนาดเล็กแบบชาวบ้านด้วยเยอะๆ”
จาก บทความ กระบวนทัศน์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคประชาชน ของ รศ.ดร. ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (อ่านได้จาก https://klangpanyath.wixsite.com/klangpayath/post/เศรษฐกิจไทยดีหรือไม่ดีกันแน่-กระบวนทัศน์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคประชาชน ) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เริ่มต้นบทสนทนากลุ่มเล็กๆ กับพวกเราว่า “ผมฟังแนวคิดเศรษฐกิจภาคประชาชนของ อาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ทำให้ผมตกผลึกทางความคิดหลายอย่าง” เมื่อนักรัฐศาสตร์ ผู้ให้ความสำคัญกับการคิดและเขียนเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นมาก จะคิดเห็นอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคประชาชน อันเป็นเศรษฐศาสตร์มุมใหม่ที่น้อยคนนักจะพูดถึง ปรัชญาทางเศรษฐกิจมุมใหม่ การทวนกระแสของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ และการจุดประกายทางออกของเศรษฐกิจจะเป็นไปได้อย่างไร นี่คือการตกผลึกทางความคิดครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของ ศ.ดร.เอนก จากการได้ฟังการบรรยายของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐศาสตร์การเมืองท่านหนึ่งของเมืองไทย
เศรษฐศาสตร์ภาคประชาชน เศรษฐกิจภาคที่ 3
ผมได้ฟังเรื่อง แนวคิดเศรษฐกิจภาคประชาชนของ อาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ทำให้ผมตกผลึกทางความคิดหลายอย่างในเรื่องเศรษฐกิจ ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องของบริษัท (Firm) ร้านค้า สนใจเรื่องของทุน ซึ่งเป็นทุนที่อยู่ในรูปของเงินตรา เครื่องจักร คือมันเป็นเศรษฐศาสตร์แท้ๆ ที่แยกออกจากศาสตร์อื่นๆ สำหรับเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชนนั้น เป็นแนวคิดที่อาจารย์ณรงค์ พยายามจะสร้างขึ้นมาให้เป็นทฤษฏีและเป็นแนวเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่งเศรษฐศาสตร์ทั่วไปไม่ค่อยสอนแบบนี้
ในทางสังคมศาสตร์ เรามักจะแบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาคที่ 1 ภาครัฐ ภาคที่ 2 ภาคธุรกิจ และภาคที่ 3 ภาคประชาสังคมและชุมชน ในทางเศรษฐศาสตร์ อาจารย์ณรงค์ได้แบ่งภาคเศรษฐศาสตร์ ออกเป็น 3 ภาค เศรษฐกิจภาครัฐ เศรษฐกิจภาคเอกชน และภาคที่ 3 เศรษฐกิจภาคประชาสังคม เศรษฐกิจภาคชุมชน ซึ่งหมายถึง การบริโภค การใช้จ่ายของมนุษย์เงินเดือน และการใช้จ่ายของอาชีพนอกระบบ เป็นการบริโภคที่เกิดจากภาคประชาชนไม่ใช่การใช้จ่ายของภาครัฐหรือการลงทุนของภาคธุรกิจ หากทำให้คนกลุ่มนี้มีกำลังบริโภคที่สูง (Higher Purchasing Power) นั่นหมายถึง ประชาชนมีปากท้องที่ดีขึ้น มีส่วนทำให้ GDP ของประเทศสูงขึ้น และแน่นอนว่ามันหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นด้วย
ผมพยายามจะถามอาจารย์ณรงค์ว่า เศรษฐศาสตร์แบบที่อาจารย์คิด ทฤษฏีใหญ่ๆ ของเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชนคืออะไร เศรษฐศาสตร์แบบทั่วไป หลักหรือจุดมุ่งหมายใหญ่คือ เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศต้องเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางหรือรายได้สูง ขีดความสามารถคนต้องเพิ่มขึ้น อาจารย์ได้ตอบผมมาว่า หลักใหญ่ๆ ของเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชน คือการทำให้คนมีรายได้ที่เพียงพอและเหมาะสม ผมฟังแล้วรู้สึกว่า มันลดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นไปได้เยอะมาก อาจจะเป็นไปได้ว่าที่ทุกวันนี้เราไม่ค่อยมีความสุข เพราะไปเปรียบเทียบคนอื่นอยู่ตลอด
อีกแง่หนึ่ง เศรษฐกิจภาคประชาชนของอาจารย์ณรงค์ ไม่ใช่การสงเคราะห์ มันเป็นเศรษฐกิจจริงๆ มีส่วนในการสร้าง GDP จริง สามารถอ้างอิงได้จากสมการการคิด GDP เป็นพลังทางเศรษฐกิจ หรือหากไม่ต้องคำนึงถึง GDP มาก การทำเศรษฐกิจภาคประชาชนให้ดี ก็จะทำให้คนมีความสุข ฉะนั้น เศรษฐศาสตร์ภาคประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ควรนำเศรษฐกิจภาคประชาชนมาใช้อย่างมีพลังมากขึ้น ต้องคิดสร้างเศรษฐกิจส่วนนี้อย่างสร้างสรรค์ จะเป็นเครื่องจักรสำคัญอีกส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ
ปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ณรงค์ การคิดแบบเต๋า ไม่สุดขั้ว
แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในช่วงแรกที่เกิดขึ้นนั้น ต้องต่อสู้กับแนวคิดแบบที่ไม่เอาทุนนิยมอย่างหนัก ถูกพวกซ้ายโจมตีว่าทุนนิยมเลวไปหมด เช่น อย่าไปค้าขาย ทุนมันผูกขาด คือไม่เอาทุนเด็ดขาด ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบ Dialectic แบบ Marx มีลักษณะที่ต้องโค่นลงและทำลายลงให้ได้ ส่วนฝั่งแนวคิดของทุนนิยม ก็มีนักคิดฝรั่ง มาคิดและเสนอว่าทุนนิยมมีข้อดีอย่างไรบ้าง เช่น ทำให้คนขยัน ทำให้คนมีประสิทธิภาพ ทำให้คนไม่ทำสงครามกัน คนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ เป็นด้านบวกของทุนนิยม ต่อสู้ทางความคิดกัน
เศรษฐศาสตร์แบบของอาจารย์ณรงค์ เป็นเศรษฐศาสตร์ที่ค่อยๆ ปรับ คือ ทุนนิยมมันก็ใช้ได้ แต่ก็ต้องเอาภาคที่ไม่ใช่ทุนนิยมมารวมอยู่ด้วย เราสามารถมีบริษัทและธุรกิจขนาดใหญ่ได้ แต่ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจชุมชนก็ต้องอยู่ได้ ต้องมีธุรกิจใหญ่ของรายย่อยไปสู้ เช่น สหกรณ์ เศรษฐศาสตร์มันต้องคิดได้หลายแบบ แต่ตอนนี้เรากำลังคิดได้แบบเดียว เช่น เรื่องการค้าปลีก ก็มีแต่เซเว่น เศรษฐศาสตร์มันควรเป็นการขับเคี่ยวของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มโชห่วย กลุ่มร้านขนาดเล็ก ส่วนร้านกาแฟก็มีแต่สตาร์บัค อเมซ่อน เราควรมีร้านกาแฟขนาดเล็กแบบชาวบ้านด้วยเยอะๆ เช่น ร้านโกปี้ ในเรื่องห้างสรรพสินค้า เมื่อก่อนเราคุ้นมากกับสหกรณ์ สหกรณ์กรุงเทพใหญ่มาก ห้างใหญ่มีเพียงเซ็นทรัลเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีแต่ห้างใหญ่ที่เป็นของเอกชนเต็มไปหมด ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ หรือไม่ให้มีห้าง แต่ไม่จำเป็นต้องทำโดยเอกชน มันอาจจะรายย่อยเป็นสหกรณ์ก็ทำได้ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นการรักษาสมดุลความพอดี คล้ายกับร่างกายของเราที่ต้องมีแบคทีเรียหลายชนิดไว้สมดุลกัน รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กด้วย เพราะไม่อย่างนั้นปลาใหญ่ก็กินปลาเล็กเป็นธรรมดา ต้องคิดว่าทำยังไงให้คนทุกๆ คนได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจ
ผมรู้สึกว่าวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ณรงค์ เป็นการคิดแบบเต๋า คือไม่สุดขั้ว สองอย่างที่มันดูเป็นขั้วตรงข้ามให้สามารถรวมกันในหนึ่งเดียว แยกเป็น 2 ขั้วไม่ได้ ต้องมีสองขั้วมาเสริมกัน เป็นการปรองดองของหยินกับหยาง อาจารย์ทำให้ผมคิดได้ว่า คนเราเป็นนายทุน ไม่ใช่เป็นนายทุนทั้งชีวิต นายทุนก็สามารถมีความคิดเพื่อชุมชน เพื่อประเทศชาติได้
เศรษฐศาสตร์แบบทวนกระแส คิดจากส่วนรวม ไม่ใช่ปัจเจก
ผมเห็นอาจารย์ณรงค์ ทำโครงการบ้านจัดสรรให้กับแรงงานที่ปราจีนบุรี อันที่จริงก็มีคนทำโครงการบ้านจัดสรรราคาถูกจำนวนมาก การเคหะแห่งชาติก็ทำ หรือโครงการเพื่อชุมชน ฝ่ายพัฒนาชุมชนก็ทำไม่น้อย ไปช่วยฝึกอาชีพให้คน แต่ไม่มีใครทำเหมือนอาจารย์ณรงค์ เขาไม่ได้ทำด้วยแนวคิดเศรษฐกิจภาคประชาชน บ้านจัดสรรของอาจารย์ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นส่วนรวม มันไม่ใช่แค่บ้านจัดสรร แต่เป็นสร้างชุมชนด้วย ให้คนปลูกผัก ปลูกสมุนไพร เลี้ยงสัตว์ แบบศาสตร์พระราชา มันเป็นแนวคิดในการใช้ “หนี้พัฒนาคน” เราขาดวิธีคิดแบบนี้ เราทำธุรกิจบ้านจัดสรร เราทำแบบส่วนตัวนิยม ไม่คิดว่าคนอื่นในหมู่บ้านจะต้องเกี่ยวกับเรา และเราไม่อยากจะยุ่งกับใคร
หมู่บ้านที่อาจารย์ทำ ทำจากวิถีชีวิตแบบไทยดั้งเดิม เดิมคนไทยส่วนรวมมาก่อน ส่วนรวมนี้ไม่ได้หมายถึงประเทศ แต่หมายถึงหมู่บ้านที่เป็นส่วนรวม หมู่บ้านของไทยอยู่กันแบบ Commune แบบโบราณ ที่ดินเป็นของส่วนรวม วัดเป็นของส่วนรวม ถนนเป็นของส่วนรวม นาเป็นของส่วนรวม มาช่วยกันลงแขก คือเป็นหลักของสังคมนิยม ฉะนั้น สังคมประกอบด้วย สังคมย่อย หลายๆ สังคมประกอบเข้าด้วยกัน สังคมย่อยจะประกอบด้วยชุมชนที่อยู่ในสังคม ในชุมชนก็มีสมาชิกของชุมชน วิธีคิดนี้จะต่างจากเสรีนิยมมาก คือ เสรีนิยมจะคิดแบบปัจเจกนิยม จะเอาจากส่วนย่อยที่สุดขึ้นไปข้างบน ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ บุคคล ครอบครัว จนถึงชาติบ้านเมืองรวมถึงโลก ตอนหลังเรามีความคิดแบบเสรีนิยมมากขึ้น คือเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าถ้าเราดีแล้ว ครอบครัวก็จะดี แล้วสังคมก็จะดีตาม
อาจารย์ณรงค์ไม่ได้คิดจากปัจเจกเสรีนิยม แต่คิดจากใหญ่ไปจากเล็ก สังคม ชุมชน ลงไป วิธีคิดแบบนี้จะเห็นกำลังของส่วนรวมที่ครอบคลุมมากขึ้น เป็นการคิดและทำแบบ Counter Terrain คือทวนกระแส เพราะเศรษฐศาสตร์ทั่วไปคิดจากเล็กไปหาใหญ่ เริ่มจาก Micro Economics คนซื้อคนขาย Demand Supply แล้วค่อยไปรวมเป็น Macro Economics ขึ้นไปถึง Global economics หากการซื้อขายระหว่างคนต่อคน ธุรกิจต่อธุรกิจ มีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนย่อยดีแล้ว ส่วนใหญ่จะดีด้วย เรียกเป็นมือที่มองไม่เห็น รัฐไม่ต้องเข้ามายุ่ง การคิดแบบนี้มันก็สุดขั้วไปหน่อย แม้ว่าตอนหลังจะพยายามเติมแนวคิด บทบาทของรัฐ ผลกระทบทางลบ ผลกระทบทางบวก แต่ฐานคิดก็มาจากปัจเจกนิยม คิดจากเสรีนิยม เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องของธุรกิจ ประชาชนไม่ใช่ภาคธุรกิจ ประชาชนเป็นเพียงแค่ผู้บริโภคเท่านั้น ไม่ใช่มาทำธุรกิจ ถ้าพูดแบบไม่สุดขั้ว ควรต้องทำทั้งสองอย่าง คิดจากเล็กไปใหญ่ เสริมด้วยคิดจากใหญ่มาเล็ก ไม่จำเป็นต้องแยกธุรกิจกับวิถีชีวิต
การเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั่วโลก เชื่อมได้แต่ต้องมีกลไกดูดซับให้มากขึ้น
ในการเรื่องเศรษฐกิจ กำลังซื้อสำคัญมาก และส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน หากเงินเดือนสูง การบริโภคสูงตาม แต่ก็จะมีคนแย้งว่าบริษัทจะอยู่ได้อย่างไรหากคนเงินเดือนสูง หากบริษัทอยู่ไม่ได้ ก็ส่งผลต่อรายได้คน สิ่งเหล่านี้เป็นผลเชื่อมกันไปหมด ทำอย่างหนึ่งกระทบอย่างหนึ่ง ซับซ้อน ผมคิดว่าที่เป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเราถูกบีบให้เชื่อมกับเศรษฐกิจโลก การปล่อยให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆ เชื่อมโยงกันเป็นเศรษฐกิจโลก ผมเริ่มไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเปล่า และได้ประโยชน์กันทุกกลุ่มจริงหรือเปล่า บางครั้งผมคิดคล้ายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ไม่ได้สุดขั้วแบบทรัมป์ ว่าเราเปิดเสรีระหว่างประเทศเป็นประโยชน์กับประเทศจริงหรือ เราอาจจะได้สินค้าประเทศต่างๆ เข้ามาในราคาถูกก็จริง แต่หากปล่อยให้ทุกอย่างเป็นตลาดเสรีหมด เราอาจจะทำอะไรได้เล็กน้อย ประเทศไทยไม่ต้องคิดทำอะไรได้หลายอย่าง ทำแต่เรื่องไม่กี่เรื่อง มีแค่ค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น ศิลปินก็ไม่ต้องมี แพทย์ก็ไม่ต้องมี
การจะอยู่แบบพอมีพอกิน มีชีวิตที่ดี ผมคิดว่าเราก็ต้องมีอิสระ (Autonomy) ของตัวเองในระดับหนึ่ง ทุกชาติก็อยากจะเห็นประเทศของตัวเองมีนักปราชญ์ ศิลป์ วิชาชีพต่างๆ ไม่ใช่เป็นแต่กรรมกร ชาวนาอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การค้าและลงทุนระหว่างประเทศ เสรีได้ระดับหนึ่ง ใครจะเข้ามาลงทุนในบ้านเรา มาทำอะไรในท้องถิ่นของเรา ควรมีกลไก อาจจะจะต้องมีการบังคับว่าต้องมีทุนท้องถิ่นร่วม 30 เปอร์เซ็นต์ คุณควรมีกำแพงอยู่บ้าง ยิ่งเรื่องการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ หากไม่มีการตั้งกำแพง คนพื้นที่คงหายหมดเพราะขายที่ขายทางให้นักธุรกิจหมด ไม่ควรให้นักธุรกิจทำอะไรได้ไปทั่ว ควรบีบให้มี Partner ท้องถิ่นให้มากขึ้น หรือเรื่องของภาค เรากำหนดว่าสำหรับภาค เกี่ยวกับลุ่มน้ำ จะต้องมีทุนของคนในภาคนั้นด้วย บีบบังคับไม่ให้ทุนเกิดจากกรุงเทพหรือต่างชาติอย่างเดียว เช่น หากมีการลงทุนที่สมุทรสงคราม ต้องให้คนสมุทรสงครามเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วม เพราะอ่าวไทยเป็นของเขา เขาจะได้มีหน้าที่ดูแล และได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของอ่าวไทย หรือการไปลงทุนเรื่องพลังงานที่ลำปาง ควรให้คนลำปางเข้าร่วม เพราะเขาเป็นเจ้าของลิกไนต์ ในระดับใหญ่ขึ้นมา คนจีน คนอินเดียมาลงทุน ก็ต้องมีทุนไทยเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ควรปรับลดเพิ่มขึ้นได้ ไม่ใช่เปิดเสรีหมด แต่ทุกวันนี้ที่เศรษฐกิจประเทศเป็นเศรษฐกิจแบบเสรี ผมคิดว่าเมื่อก่อน การทำเสรีแบบนี้มันไม่มีปัญหา ทำได้ง่าย เพราะเราไม่รู้ ไม่ได้คัดค้านกัน แต่เมื่อเรามีความรู้มากขึ้น เราก็ไม่ควรสุดขั้ว สุดขั้วไม่ได้
DECENT CAPITALISM ทุนนิยมที่ดีงาม เพียงพอ และเหมาะสม
เศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ณรงค์ โยงไปศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง คือเน้นการผลิตเพื่อกิน ปลูกผัก ทำนา เลี้ยงสัตว์ เหลือก็ขาย ไม่ใช่ซื้อทุกอย่าง อาจารย์ยังเน้นว่ามนุษย์ควรจะทำอะไรหลายอย่างพื้นฐานเองให้ได้ ในงานของพวกสาย Radicle มักจะสอนให้คนทำอะไรได้ตั้งแต่เด็กๆ วิธีคิดก่อนยุคสมัยใหม่ (Pre-Modern) มนุษย์ทำเป็นทุกอย่าง แต่คนสมัยใหม่ คิดว่าเราทำเรื่องเดียวดีกว่า ที่เราถนัดดีกว่า ไม่ต้องทำเป็นทุกอย่าง ผมว่าการกลับไปใช้ชีวิตในยุค Pre-modern มันก็ไม่เลว ซ่อมไฟฟ้าเองได้ ต่อท่อเองได้ อะไรเสียเล็กๆ น้อยๆ ก็ซ่อมได้ ปลูกผักทำสวนได้ มันเป็นการลดรายรายจ่าย และจะกลายเป็นรายได้ได้อีกด้วย
บางคนก็อาจจะคิดได้ว่า การทำอะไรเองได้หมด หากเช่นนั้นแล้วก็อาจจะไม่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน จะส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ดีหรือเปล่า ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ To sell is human ที่ได้ขายคือเป็นมนุษย์ หนังสือเล่มนี้บอกไว้ว่า มนุษย์เราซื้อขายแลกเปลี่ยนตลอด ถึงไม่มีเงินอยู่ เราก็ยังแลกเปลี่ยนอยู่ดี หมายความว่า เราต้องการหาอะไรที่เราทำไม่ได้ ที่เราไม่มี ที่เราทำไม่เป็น เราต้องการเสมอ แต่ว่าเราจะเอาอะไรมันไปแลกก็เท่านั้น เฉพาะฉะนั้น ไม่ต้องห่วง ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ยังไงก็ต้องแลกเปลี่ยน ซื้อขาย เราเป็นแบบนี้
ส่วนเรื่องความพอเพียงนั้น ก็นิยามยาก บางคนก็บอกว่าทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คนจนก็พอเพียงได้ คนชั้นกลางก็พอเพียงได้ คนรวยก็พอเพียงได้ ก็ต้องคิดในเหมาะ ซึ่งแบบนี้ก็พอเข้าใจได้ส่วนหนึ่ง ผมก็ขอเพิ่มเติมว่า เราต้องทำอะไรในระดับ ที่ปัจจัย 4 ให้ได้ก่อน และค่อยไปคิดทำอย่างอื่น ต้องทำอะไรที่ไม่มีทางลัดจนเกินไป อย่างคนสมัยนี้ เริ่มทำงานมีเงินเดือน เริ่มเป็นหนี้เลย คือมีชีวิตกับหนี้ ใช้จ่ายเกินตัว บางสังคมที่เขามี Decent capitalism อย่างเยอรมัน เขาจะเริ่มจาก Saving ก่อน เริ่มจากเดือนละเท่าไหร่ แต่ของเราเริ่มจากจ่ายเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่เป็น Saving ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเศรษฐศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับชีวิต แต่เศรษฐศาสตร์จริงๆแล้วมันเกี่ยวกับชีวิต การลงทุนก็เหมือนกัน เป็น Personal investment ของคนคนหนึ่ง คือไม่ใช่เรื่องของการจัดองค์กรดีเยี่ยม ให้มีประสิทธิภาพ แต่หมายถึงชีวิตเราทำไปเพื่ออะไร เรามีเป้าหมายเพื่ออะไร ชีวิตเป็นเรื่อง Decent Capitalist คือเอาเรื่องพื้นฐานให้มันได้ก่อน มี Saving เก็บเอาไว้ แล้วสามารถเอาไปลงทุนต่อยอดได้
การผูกขาดทางธรรมชาติ และความรักต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น
ผมฟังอีกเรื่องหนึ่งของอาจารย์ณรงค์ เรื่อง แนวคิดการผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) ค้นหาของดีท้องถิ่นและสร้างให้กลายเศรษฐกิจขึ้นมา อาจารย์บอกว่าเป็นอีกทางที่ทำให้ชนะทุนใหญ่ได้ ทำให้เราคิดออกมากขึ้นว่าเราจะทำเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างไร ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว เรื่องที่เร่งด่วนของสังคมไทย คือต้องหาว่าการผูกขาดโดยธรรมชาติของแต่ละที่ ว่าคืออะไร แล้วก็พัฒนาขึ้นมา ผมคิดว่าเรื่องวัฒนธรรม การต่อด้วยเศรษฐกิจมันสำคัญ เพราะเราจะทำวัฒนธรรม การที่เราจะพัฒนาสังคม จิตใจหรืออะไรก็ตาม ถ้าไม่มีเศรษฐกิจรองรับ ก็ไม่ยั่งยืนเหมือนกัน เพราะคนยังต้องทำมาหากิน เช่น ให้ทอผ้าไปเรื่อยๆ แล้วขายไม่ได้ เวลาผ่านไปก็คงไม่มีใครอยากทอผ้าอีก
เรื่องเศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องสังคมด้วย สัมพันธ์กัน อย่างเช่น คนไทยมีน้ำใจไมตรี โอบอ้อมอารี ก็สามารถต่อยอดออกมาเป็นธุรกิจท่องเทียว อีกทั้งเราต้องใช้ความเป็นสังคม ชุมชนในการหนุนเศรษฐกิจด้วย เช่น ในเมืองดีทรอยต์ ตอนนี้เขาปลูกผักในเมือง แล้วผักปลูกขึ้นดีมาก ทำให้คนดีทรอยต์คิดออกว่า เมืองของเขาเมื่อก่อนเป็นย่านเกษตรกรรมที่ดีที่สุดของสหรัฐ ก่อนจะกลายเป็นเมืองโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ ตอนนี้อุตสาหกรรมรถยนต์เจ๊ง คนของเขาก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิดหันมาทำเกษตรกรรม ให้ทุกบ้านปลูกผักปลอดสารพิษ ทั้งกิน และขายให้ร้านอาหาร โดยใช้ชุมชนคอยควบคุมกำกับกันเองอย่างเข้มข้นทุกบ้าน รับรองได้ว่าผักที่มาจากดีทรอยต์เป็นผักที่ดี ปลอดสารพิษ คนที่กินก็มั่นใจได้ ซื้อได้
ผมพูดเรื่องท้องถิ่น จะพูดเสมอว่าเราต้องมีความรักต่อท้องถิ่น ความชาตินิยมต่อท้องถิ่น ควรต้องโยงไปถึงความรักต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย เราจะทำธุรกิจอย่างไรให้ท้องถิ่นเจริญก้าวหน้า มีอะไรดีก็ต้องให้ท้องถิ่นดีด้วย ทำด้วยความรักต่อท้องถิ่น เช่น ในยะลา นายกเทศมนตรีของเขาสนใจเรื่องเศรษฐกิจมาก ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา เขาประดับไฟตอนกลางคืนในเมือง จัดงานใหญ่ระดับเมืองหลายงานต่อปี เพื่อหวังกระตุ้นการท่องเที่ยวการจับจ่าย เขาทำเพราะเขารักยะลา มียะลานิยม เท่านั้นไม่พอเขายังสนใจเรื่องพัฒนาเกษตรกรรม ทั้งที่คนในเทศบาลไม่มีใครทำเกษตรกรรมเท่าไหร่ แต่เพราะของคนรอบนอกยะลาทำเกษตรกรรม เขาเลยสนใจ เพราะถ้าคนนอกยะลาไม่มีรายได้ เศรษฐกิจเมืองยะลาก็จะไม่ดีตาม ควรทำเศรษฐกิจรอบนอกยะลาให้ดีด้วย
การสร้างเศรษฐกิจทำได้หลายรูปแบบ ไม่จำกัดศาสตร์
จุดแข็งของ อาจารย์ณรงค์ อย่างหนึ่ง คือ อาจารย์ทำให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชน คนทุกศาสตร์ทางสังคมทำได้ เช่น นักรัฐศาสตร์ นักสังคมสงเคราะห์ พวกนี้ทำงานเพื่อพัฒนาสังคมอยู่แล้ว ก็สามารถคิดเรื่องปากท้องของคนได้ ไม่จำเป็นต้องมีแต่นักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่ทำได้ ถ้ามีการกล่อมเกลาทางแนวคิดที่จะช่วยในการปฏิบัติได้ ข้อเสนอของอาจารย์ณรงค์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคประชาชนข้อหนึ่ง ในกรณีที่รัฐบาลจะมีความคิดทำเรื่องเหล่านี้ คือต้องให้ราชการเข้ามาทำมากขึ้น อาจจะต้องให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวลากกระทรวงแรงงานและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แม้ว่ากระทรวงแรงงานและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีความคิดนำได้ แต่ก็อาจจะลากกระทรวงสาธารณสุขไม่ไหว อาจจะกลายเป็นกลุ่มกระทรวงใหม่ ที่มีสามกระทรวงนี้ ให้หันมาคิด หันมาทำเรื่องเศรษฐกิจภาคประชาชน ที่ทำแบบไม่ใช่การสงเคราะห์
ผมคิดและฟังเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่นมาพอสมควร ผมคิดว่าถ้าจะทำเศรษฐกิจท้องถิ่น ควรมีวิธีการหรือโมเดลได้หลายรูปแบบ เช่น ท้องถิ่นนี้นำโดยนายกเทศมนตรี เป็นตัวหลัก เพราะนายกเก่ง ท้องถิ่นนี้อาจจะนำโดยเอกชน มีเอกชนเก่งที่ทำเพื่อสังคม หรือจะนำโดยกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ เช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร์ เป็น Social business หรือจะแบบคนคนเดียวกับครอบครัว มีสถานะกับความสามารถสูง เช่น คุณเนวิน ที่สร้างบุรีรัมย์ขึ้นมา เกิดบุรีรัมย์นิยมที่คนภาคภูมิใจในเมือง ทั้งที่เมื่อก่อนคนบุรีรัมย์ไม่อยากจะบอกว่าเป็นคนที่ไหน เพราะเมืองนี้จนมาก (หัวเราะ) แต่ตอนนี้บอกได้เต็มปากว่าเป็นคนบุรีรัมย์ ที่ผ่านมาการทำเรื่องเศรษฐกิจ เราจะเห็นแต่เศรษฐกิจระดับชาติ ตัวแสดงเรานึกถึงแต่รัฐ ไม่มีตัวแสดงมากนัก แต่เมื่อมาคิดเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่น คิดแบบราชการอาจจะยาก แต่ถ้าไม่คิดแบบราชการ มันจะผุดบังเกิดงอกออกมาเอง จะทำให้เราจะเห็นตัวแสดงเพิ่มขึ้นมาก เช่น นายกเทศมนตรี นักวิชาการ ประชาสังคม ชุมชน เขาเกิดและอยู่พื้นที่ทั้งชีวิต คนเหล่านี้เขาทำ เขาเก่งทั้งๆ ที่ระบบไม่เอื้อให้เขาคิด หากทำเศรษฐกิจเมืองได้ สุดท้ายจะไปให้เอื้อเศรษฐกิจภาค เศรษฐกิจประเทศชาติได้
โรงเรียนนักเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชน
ผมคิดอยู่เหมือนกันว่า อยากให้มีรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชนดีเด่น ยกย่องนักเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีรางวัลปราชญ์ชาวบ้านดีเด่นมากมาย แต่ไม่พอ ควรมีรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชนด้วย ทำคล้ายกับรางวัลโนเบลเลยก็ว่าได้ เป็นเกียรติเป็นกำลังใจให้เขา ที่สำคัญ เราต้องช่วยคิดหรือทำโรงเรียนเศรษฐศาสตร์ภาคประชาชน หรือนักเศรษฐศาสตร์ภาคประชาสังคมขึ้นมา ที่มีหลักคิดคล้ายกับอาจารย์ณรงค์ เพื่อสร้างนักคิดและบริหารเศรษฐศาสตร์ภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้น กลุ่มเป้าหมายให้คนท้องถิ่นมาเรียน คนของส่วนกลางมาเรียน มีนักเศรษฐศาสตร์สายนีโอคลาสสิคมาเรียนด้วย คนเหล่านี้จะได้เข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจ ปรัชญาเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง การค้นหาสิ่งที่เป็นของผูกขาดเชิงพื้นที่ (Natural Monopoly) แล้วจะสร้างมูลค่าให้เกิดเป็นเศรษฐกิจได้ยังไง แล้วจะจัดการอย่างไร จะขายได้อย่างไร มีกลไกและการแชร์ผลประโยชน์กันยังไง มันเป็นการจัดการของท้องถิ่นทั้งนั้น ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ควรทำนะ..
สรุปและเรียบเรียงจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในวันที่ 1 กันยายน 2561
สรุปและเรียบเรียง : ณัฐธิดา เย็นบำรุง ผู้ช่วยนักวิจัย
ภาพปก : ฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม ผู้ช่วยนักวิจัย
จัดรูปแบบ : ปลายฟ้า บุนนาค ผู้ช่วยนักวิจัย
Comments