เสกสรร อานันทศิริเกียรติ นักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ธันวาคม 2562
เมื่อวันที่ 4-6 ธันวาคม 2562 ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคในหัวข้อ “ขีดความสามารถของรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนที่กำลังเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ โดยแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ (State Capacity for National Development in ASEAN Transition Economies: Sharing Experiences with ASEAN and Korea)” จัดโดย สถาบันวิจัยเกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย (Korea Research Institute at the University of New South Wales: KRI@UNSW) ร่วมกับวิทยาลัยภูมินทร์บริหารรัฐกิจ (Royal School of Administration: RSA) ราชอาณาจักรกัมพูชา การประชุมดังกล่าวมีมูลนิธิเกาหลี (Korea Foundation: KF) หน่วยงานส่งเสริมการขับเคลื่อนการทูตสาธารณะในกำกับดูแลของกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลัก
กิจกรรมหลักของการประชุมประกอบด้วยการบรรยายของผู้ปฏิบัตินโยบายและนักวิชาการชั้นนำด้านรัฐประศาสนศาสตร์และการบริหารภาครัฐจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค การอภิปรายกลุ่มย่อยในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ กรณีศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนและเกาหลีใต้ การปฏิรูประบบราชการและการบริหารภาครัฐ และการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ บทความนี้เสนอว่า อาเซียนและเกาหลีใต้สามารถแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาระหว่างกันได้ เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกัน แต่การพัฒนาประเทศจะยั่งยืนและมีประสิทธิภาพได้ต้องเกิดจากกระบวนการริเริ่มและขับเคลื่อนภายในที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเด็น โดยบทความสังเคราะห์ประเด็นหลักจากการประชุม ได้แก่ โอกาสและความท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้ กระบวนทัศน์ที่เหมาะสมในการปฏิรูปการบริหารภาครัฐ และแนวทางยกระดับความสัมพันธ์รอบด้านระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้
โอกาสและความท้าทายของการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียนและเกาหลีใต้
คำถามสำคัญของการนำเสนอและอภิปรายเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนและเกาหลีใต้ในการประชุมนั้นประกอบด้วย (1) การพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เป็นแนวทางสำหรับประเทศอาเซียนที่กำลังเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจได้หรือไม่ (2) ประเทศอาเซียนและเกาหลีใต้ควรทำอย่างไรจึงจะพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางดังที่หลายประเทศตั้งความหวัง ผู้นำเสนอจาก KRI@UNSW และเกาหลีใต้ได้ทดลองถอดบทเรียนการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ พบว่า มีลักษณะสำคัญอยู่สี่ประเด็น ได้แก่ รัฐบาลประเทศเหล่านี้มุ่งมั่นสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลอำนาจนิยมเต็มรูปแบบ รัฐบาลเข้าแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการส่งออกและอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ประเทศมีความถนัด สนับสนุนกลุ่มทุนใหญ่หรือกลุ่มทุนของรัฐเป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจ และรัฐบาลยังคงรักษาสมรรถนะของตนได้อย่างดีแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผู้นำเสนอกล่าวว่า ลักษณะสำคัญทั้งสี่ข้อนี้สามารถเป็นโอกาสให้ประเทศอาเซียนได้ศึกษาโดยพิจารณาสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขเชิงสถาบันของตนได้
จากนั้น นักวิชาการเวียดนามได้นำเสนอกรณีศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่หลายคนจับตามองว่าจะเป็นดาวรุ่งของภูมิภาคอาเซียนโดยชี้ให้เห็นเงื่อนไขสำคัญที่เป็นรากฐานของสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นคือ การพัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายและบทบัญญัติต่าง ๆ ให้ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบประกอบด้วย กฎหมายปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ข้อบังคับว่าด้วยความผูกพันทางสัญญา บทบัญญัติของการลงทุนเอกชนและบรรษัท แนวปฏิบัติทางกฎหมายเกี่ยวกับตลาดที่สำคัญ เช่น ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี การเงินการธนาคาร กฎหมายเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท กฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและรักษาความปลอดภัยทางสังคม นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1987 ที่รัฐบาลเวียดนามประกาศนโยบายปฏิรูป (Doi Moi Policy/Chính sách Đổi Mới) จนถึงวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เวียดนามออกกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นจำนวน 603 ฉบับ กฎหมายเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการเปิดรับเงินลงทุนทางเศรษฐกิจที่ทำให้เวียดนามสามารถรักษาเสถียรภาพ พร้อมกับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการรับการลงทุนเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลาวมีประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันกับเวียดนาม โดยเริ่มจากการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (ค.ศ. 1976-1985) และเริ่มเปิดรับการลงทุนและส่งเสริมการแข่งขันนับตั้งแต่ค.ศ. 1986 เป็นต้นมา ปัจจุบัน ลาวใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 8 (ค.ศ. 2016-2020) แผนนี้วางเป้าหมายให้ลาวหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่พัฒนาน้อย (Least Developing Countries: LDCs) ภายในค.ศ. 2020 และเป็นประเทศรายได้ระดับกลางขั้นสูง (Upper Middle-income) ภายในค.ศ. 2030 นักวิชาการจากลาวชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลลาวได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากขับเคลื่อนนโยบายแบบบนลงล่างมาเป็นแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปรับจากการที่รัฐบาลมอบนโยบายให้กระทรวง แขวง เมือง หมู่บ้านนำนโยบายไปปฏิบัติตามเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และรัฐบาลทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการทำงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะ มาเป็นการเสนอแผนตามความต้องการและเป้าหมายของหมู่บ้านผ่านขึ้นไปสู่การพิจารณาระดับเมือง แขวง และกระทรวงมากขึ้น
แม้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในกรณีของเวียดนามและลาวจะมีแนวโน้มเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต นักวิชาการที่เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อนี้ต่างกล่าวถึงความท้าทายที่ประเทศอาเซียนและเกาหลีใต้อาจต้องเผชิญร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนทัศน์ที่จะนำพาประเทศขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศยังมีทั้ง 1.0 2.0 และ 3.0 อยู่ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน นอกจากเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่แตกต่างกันแล้ว หลายประเทศยังเผชิญปัญหาและผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนาประเทศแบบเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว เช่น การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน เมืองที่เจริญเติบโตแบบไม่สนใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ การผูกขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม ข้อเสนอของที่ประชุมในการเอาชนะปัญหาเหล่านี้คือ แต่ละประเทศต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายของประเทศคืออะไร ประเทศนั้นต้องการมุ่งไปสู่อะไร ขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรละเลยสถานภาพของประเทศที่เป็นอยู่จริงด้วย หากมีจุดอ่อนด้านไหน ก็ควรใช้ความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในการสร้างโอกาสและลดความเสี่ยง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทุกประเทศต้องแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมในแบบของตัวเองมากกว่าจะไปลอกเลียนหรือนำแบบอย่างของประเทศอื่นมาใช้โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง
กระบวนทัศน์ที่เหมาะสมในการปฏิรูปการบริหารภาครัฐ
นักวิชาการจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นอดีตรองหัวหน้าทีมงานประธานาธิบดีได้แบ่งปันเรื่องราวความพยายามการปฏิรูปการบริหารภาครัฐของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) โดยชี้ให้เห็นปัญหาต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ เช่น อินโดนีเซียไม่มีกฎหมายรองรับการปฏิรูประบบรัฐการ การเมืองท้องถิ่นขยายพรมแดนไปสู่การแข่งขันระหว่างระบบรัฐการท้องถิ่นด้วยกันเอง ระบบรัฐการไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ขีดความสามารถการเปลี่ยนแปลงของแต่ละองค์กรและทรัพยากรที่กระจายไปไม่เท่าเทียมทั่วถึง ภารกิจระหว่างรัฐส่วนกลางกับท้องถิ่นซ้ำซ้อน ระบบติดตามตรวจสอบภายในและการบังคับใช้กฎหมายในส่วนรัฐการต่าง ๆ อ่อนแอ ไม่จริงจัง และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนไม่มีความตระหนักและไม่มีส่วนร่วม รัฐบาลอินโดนีเซียตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และได้วางแผนปรับแนวทางการบริหารระบบรัฐการให้เป็นแบบมุ่งเน้นผลดำเนินงาน (performance-based) ในค.ศ. 2019 และมุ่งไปสู่การจัดการปกครองแบบยืดหยุ่นมีพลวัต (Dynamic Governance) ภายในค.ศ. 2025 โดยพัฒนาตัวชี้วัดต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบคัดเลือกบุคลากร ระบบติดตามตรวจสอบภายใน การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการเพิ่มคุณภาพการบริการภาครัฐ
อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือ กรณีการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าของฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของฟิลิปปินส์เป็นผู้บรรยาย อดีตรัฐมนตรีชี้ให้เห็นว่า เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จมีสองประการ ประการแรก บทบาทของฝ่ายตุลาการในการวางแนวทางที่เป็นที่ยอมรับ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารในประเด็นการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าในช่วงแรกไม่สู้ดีนัก เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารหลังจากผ่านกฎหมายปฏิรูปกิจการไฟฟ้า (Electric Power Industry Reform Act: EPIRA) ในค.ศ. 2001 กฎหมายดังกล่าวได้วางแนวทางการปรับโครงสร้างให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลของประธานาธิบดีต้องทำตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในกฎหมายใหม่ แต่รัฐบาลขณะนั้นเห็นต่างเรื่องแนวทางการปฏิรูป จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย ผลสุดท้ายคือ ศาลต้องเข้ามาเป็นผู้กำหนดและวางแนวปฏิบัติที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ ประการที่สอง มีองค์กรที่เป็นอิสระและมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด กรณีการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าของฟิลิปปินส์นี้ มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นใหม่แยกออกจากกระทรวงพลังงาน (Department of Energy: DOE) เรียกว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Energy Regulatory Commission: ERC) โดยมีหน้าที่กำหนดราคาค่าไฟฟ้า และกำกับดูแลกฎระเบียบและการบังคับใช้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมด การจัดตั้ง ERC ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถสลายการผูกขาดของกระทรวงพลังงานในการกำหนดค่าไฟฟ้าและกำหนดกฎเกณฑ์อื่น ๆ แต่เพียงผู้เดียวไปสู่การเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ารายอื่นในประเทศสามารถพัฒนาขีดความสามารถเพื่อแข่งขันได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น
ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อพูดถึงการปฏิรูปภาครัฐในช่วงสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลส่วนใหญ่มักดำเนินการตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) คือ เน้นการลดขนาดองค์กรและบุคลากรภาครัฐ และลดขอบเขตของรัฐในการกำกับดูแลการบริหารภาครัฐ อย่างไรก็ดี กรณีของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลประโยชน์สาธารณะอยู่พอสมควร ขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารก็มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เกี่ยวข้องเพียงฝ่ายเดียวในกระบวนการปฏิรูปภาครัฐ และแต่ละประเทศก็มีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบที่ประสบความสำเร็จแตกต่างกัน นักวิชาการชาวอินโดนีเซียท่านเดียวกันนี้เสนอว่า แนวคิดปรับการทำงานให้ภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกและเป็นส่วนประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งราชการ เอกชน ท้องถิ่น (Whole of Government: WoG) อาจเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในการปฏิรูประบบบริหารภาครัฐตามประสบการณ์ของประเทศในอาเซียนและเกาหลีใต้ เนื่องจากหลายประเทศได้กระจายอำนาจไปแล้วระดับหนึ่ง และดูเหมือนว่า ภาคเอกชนและภาคส่วนที่ไม่ใช่รัฐอื่น ๆ จะมีความกระตือรือร้นและมีบทบาทนำการพัฒนามากกว่าภาครัฐเสียอีก
แนวทางยกระดับความสัมพันธ์รอบด้านระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้
ท่านประธานาธิบดีมุน แช-อิน (Moon Jae-in) แห่งเกาหลีใต้ได้ประกาศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) เพื่อยกระดับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐขึ้นมา นโยบายนี้มุ่งเน้น 3Ps ได้แก่ ประชาชน (People) ความมั่งคั่ง (Prosperity) และสันติภาพ (Peace) นโยบายนี้เป็นความพยายามปรับตัวของเกาหลีใต้ในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีแต่ความไม่แน่นอนและไม่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สงครามการค้าและการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่อาจทำให้ประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กต้องปรับทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศเข้าหามหาอำนาจใดมหาอำนาจหนึ่งหรือเลือกข้างนั่นเอง ในเวทีนี้ นักวิชาการเกาหลีใต้ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า กระแสเกาหลี (Korean Wave) เป็นแนวทางที่อาเซียนใช้สร้างความมั่งคั่งได้ เนื่องจากอาเซียนเองก็มีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีคุณภาพเป็นที่ประทับใจชาวต่างชาติมากมาย
นักวิชาการไทยเสนอว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่นั้นไม่ได้เป็นแต่โอกาสของฝ่ายเกาหลีในการเข้ามาบทบาทในภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น ในทางกลับกัน อาเซียนก็สามารถมีบทบาทและรุกคืบเข้าไปในสังคมเกาหลีได้เช่นกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ของไทยได้เผยแพร่ทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประเทศเกาหลี เช่นเดียวกับการจัดเทศกาลไทยของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ที่สร้างความตระหนักรู้และทำให้คนเกาหลีรู้จักประเทศไทย ไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้น ประเทศอาเซียนอื่น ๆ ก็มีกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน ขณะที่ฝ่ายเกาหลีมีการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea Centre: AKC) และศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Culture House: ACH) เป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศอาเซียนให้สังคมเกาหลีรู้จัก ซึ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกในบรรดาคู่เจรจาของอาเซียนที่จัดตั้ง ACH ขึ้นและให้งบประมาณสนับสนุนอย่างจริงจัง
นักวิชาการไทยมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า เกาหลีใต้ใช้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของแต่ละประเทศในอาเซียน ในกรณีของไทย รัฐบาลประกาศใช้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการต่างประเทศที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ 5 มี” ประกอบด้วย มีความมั่นคง มีความมั่งคั่งและยั่งยืน มีมาตรฐาน มีสถานะและเกียรติภูมิ และมีพลัง รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ควรไปพิจารณาว่าจะส่งเสริมประเทศไทยตามยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้ นักวิชาการไทยยังได้เสนอให้ประเทศอาเซียนและเกาหลีใต้ใช้ยุทธศาสตร์ “4Es” ประกอบด้วย (1) ใช้ยุทธศาสตร์การทูตสาธารณะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ (Employing Public Diplomacy Strategies) (2) เสริมพลังความเข้มแข็งให้ประชาชนอาเซียนกับเกาหลี (Empowering ASEAN and Korean People) (3) เสริมสร้างความเชื่อมโยงเชิงสถาบัน (Enhancing Institutional Linkages) (4) ยืนยันว่าความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสองฝ่ายจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (Ensuring ASEAN-Korea People-to-People Connectivity) มาตรการสำคัญที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ การจัดตั้งเครือข่ายวิชาชีพอาเซียน-เกาหลี การจัดตั้งกลุ่มศึกษาอาเซียน-เกาหลีภายในมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ การจัดทำและเผยแพร่วีดิทัศน์และสื่อออนไลน์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนและเกาหลีใต้ ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ตามรูปแบบที่แต่ละประเทศถนัด หากสามารถดำเนินการได้ตามนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ก็จะมีความยั่งยืน และเป็นพลังเสริมสร้างขีดความสามารถให้ภาครัฐของประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
Comments