top of page

แอฟริกา: สมรภูมิใหม่ของจีน-อินเดีย



นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคแอฟริกามากขึ้น เห็นได้จากการที่โมดีไปเยือนประเทศสำคัญๆ ในภูมิภาคดังกล่าว แต่การกลับมาให้ความสำคัญในแอฟริกาของอินเดียนั้น น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเข้ามาของจีนในภูมิภาคนี้เช่นกัน


อินเดียมีความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกามาเป็นระยะเวลานาน ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงต่างๆ ถูกจำกัดเนื่องจากอินเดียมีความสามารถทางเศรษฐกิจต่ำ ขณะที่จีนมีเงินลงทุนมหาศาล มีตลาดที่ใหญ่และมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในแอฟริกา การลงทุนของจีนในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2557 การค้าทวิภาคีระหว่างจีนกับแอฟริกามีมูลค่าประมาณ 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ การค้าทวิภาคีระหว่างอินเดียกับแอฟริกาในช่วง ปี 2559-2560 มีเพียงแค่ 5.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น


การเข้าไปในรวันดาและยูกันดาของโมดี เป็นความพยายามที่จะสร้างความแตกต่างใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและแอฟริกา ในรวันดา ซึ่งจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดและเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โมดีเป็นผู้นำอินเดียคนแรกที่ได้ไปเยือนประเทศนี้และลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ ทั้งทางด้านการค้า การเกษตรกรรม และด้านความมั่นคง ส่วนในยูกันดา โมดี ได้ไปแสดงปาฐกถาครั้งแรก โดยบอกว่าอินเดียจะให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่หลายประเทศในแอฟริกาผ่านด้านต่างๆ เช่น เกษตรกรรม สุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคง และพลังงาน


ทั้งจีนและอินเดียพยายามจะทำให้ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะลดการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจในภูมิภาคแอฟริกา ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ทั้งจีนและอินเดียนั้นมีความประสงค์ที่จะช่วยแอฟริกาภายใต้ กรอบความร่วมมือ South-South Cooperation เพื่อเร่งการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาของแอฟริกา จีนและอินเดียมีความเห็นตรงกันในเรื่องนี้” แม้ว่าโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนจะออกมาพูดเช่นนี้ แต่สีจิ้นผิงก็ยังไปลงนามในข้อตกลงหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt And Road Initiative: BRI) ซึ่งหลายอย่างนั้นอินเดียก็ไม่เห็นด้วย


ส่วนอินเดีย ก็มีเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ได้ออกมาพูดถึงการเยือนแอฟริกาของนายกฯ โมดี ว่าเป็นแค่เพียงการสานสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับแอฟริกาที่มีมาอย่างยาวนานเท่านั้น ซึ่งย้อนไปตั้งแต่สมัยมหาตมะคานธี


ความจริงนั้นแตกต่างจากที่ทั้งสองประเทศออกมาบอกอย่างชัดเจน อินเดียมักอ้างสิทธิ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกับแอฟริกา ซึ่งมีข้อสังเกตว่า การที่อินเดียหันกลับไปให้ความสำคัญต่อภูมิภาคแอฟริกานั้นอาจจะมาจากการที่จีนที่เข้ามามีบทบาทในแอฟริกามากขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จีนได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งและอิทธิพลของตนในภูมิภาคแอฟริกาและประเทศแอฟริการอบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอินเดียค่อนข้างมีความกังวลใจต่อการขยายตัวของจีนในด้านผลประโยชน์ทางทะเล อินเดียจึงพยายามที่จะเพิ่มความร่วมมือกับหลายประเทศเพื่อตอบโต้การขยายตัวของจีนนี้ โดยเข้าไปในเซเชลส์และมอริเชียส ซึ่งสีจิ้นผิงก็ได้ไปเยือนมอริเชียสในการเยือนแอฟริกาที่ผ่านมาด้วย ซึ่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียและรัฐในเขตชายฝั่งกำลังเพิ่มความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากบริเวณนี้มีการขนส่งน้ำมันทางทะเลถึง 2 ใน 3 ของโลก ขนส่งส่งสินค้าเทกอง (bulk cargo) เป็น 1 ใน 3 ของโลก และมีการขนส่งทางตู้คอนเทนเนอร์จำนวนครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ที่นี่


สำหรับอินเดียนั้น ภูมิภาคแอฟริกาเพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างมากเนื่องจากการที่จีนเข้าไปในแอฟริกาแบบเชิงรุก ขณะที่ก่อนหน้านี้ อินเดียก็ละเลยภูมิภาคนี้มาเป็นเวลายาวนาน กอปรกับอินเดียนั้นมีความสามารถทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ซึ่งเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงเมื่อต้องเผชิญกับยุทธศาสตร์การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคดังกล่าว แต่ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย คือ อินเดียไม่สามารถทำตามที่ได้รับปากและสัญญาไว้ และไม่ได้แสดงถึงความพยายามปรับตัวให้ดีขึ้นในเรื่องนี้ นั่นยิ่งตอกย้ำว่าหากจะต่อกรกับจีนในเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับอินเดีย


ปลายฟ้า บุนนาค แปลและเรียบเรียง ตุลาคม 2561


แปลและเรียบเรียงจาก: Rajagopalan, Rajeswari Pillai. “India’s China Challenge in Africa.” The Diplomat, July 31, 2018. https://thediplomat.com/2018/07/indias-china-challenge-in-africa/ (accessed October 11, 2018)




ดู 9 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page